ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ “การพัฒนาการสอนภาคปฏิบัติ: ถอดบทเรียนการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Clinical Teaching Workshop” เมื่อวันพุธที่ 22 มกราคม 2557 โดยมี อาจารย์กาญจนา ครองธรรมชาติ อาจารย์ชญาภา ชัยสุวรรณ อาจารย์เบญจมาศ โอฬารรัตน์มณี อาจารย์สุพรรณิการ์ ปางบางพระ และ อาจารย์จินตนา แสงงาม เป็นผู้นำกิจกรรม

 

สืบเนื่องจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Clinical Teaching Workshop” โดยวิทยากรจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย ดร.นพ.เชิดศักดิ์ ไอรมณีรัตน์  รศ.นพ.สุพจน์ พงศ์ประสบชัย และ อ.นพ.สุประพัฒน์ สนใจพาณิชย์  ร่วมกับวิทยากรจากคณะพยาบาลศาสตร์ โดย อ.ดร.อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์ จากภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากร  ในการประชุมได้มีการกล่าวถึงเทคนิคในการสอนทางคลินิกที่หลากหลายและน่าสนใจ เช่น เทคนิคการใช้คำถาม การให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียน  การสอนข้างเตียง การสอนเจตคติ เป็นต้น  ซึ่งเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันให้การเรียนการสอนทางคลินิกมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการพัฒนาการจัดการความรู้ของภาควิชาฯ จึงจัดกิจกรรมนี้เพื่อให้อาจารย์ผู้เข้าประชุมนำความรู้และเทคนิคการสอนภาคปฏิบัติที่ได้จากการประชุมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ในภาควิชาฯ เพื่อนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้ในการสอนทางคลินิก ตลอดจนอภิปรายถึงปัญหาและอุปสรรค  ประโยชน์หรือข้อแนะนำในการนำเทคนิคไปใช้  โดยมีอาจารย์แสดงความคิดเห็นหลากหลาย สรุปประเด็นดังนี้

  1. เทคนิคการสอนบางอย่างอาจใช้เป็นประจำอยู่แล้วในการสอนทางคลินิกแต่วิธีการอาจยังไม่เหมาะสม เช่น การใช้คำถาม หรือ การสอนในเวลาที่จำกัด การสอนข้างเตียง (bedside teaching) และ การให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback)  ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้ทำให้ได้หลักการที่ถูกต้องมากขึ้น รวมทั้งการเรียกนักศึกษา ซึ่งควรเรียก “ชื่อจริง”  หรือ ใช้คำว่า “นักศึกษา”  แทนการเรียก “หนู”  หรือ “ลูก”
  2. การตั้งคำถามควรถามที่ละ 1 คำถาม ไม่ตั้งคำถามต่อเนื่องกันเพราะจะส่งผลให้นักศึกษาอึดอัดและเครียด  เมื่อถามแล้ว ควรให้เวลานักศึกษาในการคิดหาคำตอบ ประมาณ 10 วินาที อาจารย์ไม่ควรชิงตอบก่อน เมื่อให้เวลาแล้ว นักศึกษาตอบไม่ได้จึงบอกคำตอบพร้อมอธิบาย 
            ในประเด็นนี้ อาจารย์ส่วนใหญ่เห็นว่าการให้เวลาในการตอบคำถาม ขึ้นกับสถานการณ์ หากเป็นเรื่องเร่งด่วนอาจทำได้ยาก อย่างไรก็ตามควรเว้นระยะเวลาให้นักศึกษาได้คิดมากขึ้น
            จากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ วิทยากรได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ การให้อาหารผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยต้องได้รับการดูดเสมหะก่อน  อาจารย์ไม่ควรบอกหรือใช้คำสั่งแก่นักศึกษาว่าให้ทำอะไรก่อนหลัง แต่ควรให้เวลาในการให้นักศึกษาคิด แสดงความคิดเห็น เพื่อฝึกให้นักศึกษารู้จักประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในการให้การพยาบาลผู้ป่วยด้วยตนเอง
  3. การให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback) ควรใช้หลัก positive feedback ก่อน negative feedback เสมอ  เช่น การให้คำชม (ไม่ใช่การเยินยอ) ก่อนแล้วจึงบอกสิ่งที่นักศึกษาต้องปรับปรุงอย่างชัดเจนตรงประเด็น ที่สำคัญคือ การชื่นชมเมื่อนักศึกษาทำในสิ่งที่ดี  หรือยกสถานการณ์นั้นๆ มาชื่นชมพร้อมระบุชื่อนักศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างให้นักศึกษากลุ่มต่อไป เพื่อให้นักศึกษารู้สึกมีกำลังใจ มีความตั้งใจและพยายามในการปฏิบัติการพยาบาลให้ดีทีสุด
  4. การสอนข้างเตียง (bedside teaching) เป็นการสอนให้นักศึกษาได้มีการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติจริง  ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบตามลักษณะของนักศึกษาแต่ละคน  ในกรณีที่นักศึกษาไม่ตอบหรือตอบไม่ได้อาจมีการใช้คำถามกระตุ้น คำถามนำ หรือให้ตัวเลือก เพื่อให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น ฝึกคิด วิเคราะห์ในสถานการณ์นั้นๆ  กรณีที่นักศึกษาจะปฏิบัติกิจกรรมทางการพยาบาลที่ซับซ้อนหรือไม่เคยปฏิบัติ ควรสอบถามและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะปฏิบัติ ไม่สอนต่อหน้าผู้ป่วย/ญาติ โดยเฉพาะ ไม่ดุหรือตำหนินักศึกษาต่อหน้าผู้ป่วย/ญาติ
            นอกจากนี้  อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้นำเทคนิคการสอนข้างเตียง (bedside teaching) ไปใช้ คือ ให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์ด้วยตนเองก่อน โดยหากนักศึกษาตอบไม่ได้จริงๆ ก็จะมีตัวเลือกให้นักศึกษาเลือก  ซึ่งเป็นการช่วยให้นักศึกษาตัดสินใจได้ง่ายขึ้น หากพบว่าในกลุ่มนักศึกษามีปัญหาจากการปฏิบัติการพยาบาลในเรื่องใดมาก จะใช้วิธีสรุปรวมในนักศึกษากลุ่มใหญ่ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ที่ถูกต้องและใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นในรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อปรับการเรียนการสอนให้มีรูปแบบที่มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่านักศึกษามีความกล้าแสดงความคิดเห็น ยอมรับในข้อบกพร่องของตนเอง และมีความสุขในการเรียนการสอนมากขึ้น
  5. การใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน เช่น ค้นหาข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือ อาจารย์ในที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย สรุปดังนี้
    • ใช้สืบค้นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนได้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม และถูกกาลเทศะ และให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อการดูแลผู้ป่วยมากที่สุด เช่น นำภาพเกี่ยวกับโรคที่บันทึกใน ipad ประกอบการ conference กับพี่พยาบาลและเพื่อนนักศึกษาบนหอผู้ป่วย  หรือ การใช้โทรศัพท์เปิดรูปการ์ตูนเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจแก่ผู้ป่วยเด็กที่กลัวการรักษา  เป็นต้น แต่ไม่ควรใช้โทรศัพท์เพื่อเล่นเกมส์หรือเล่น line ในขณะที่มีการเรียนการสอน ค้นหาข้อมูลในการ conference เนื่องจากไม่ได้เตรียมความพร้อมมาก่อน หรือการหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคขณะอยู่บนหอผู้ป่วยโดยละเลยการดูแลผู้ป่วย เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แสดงถึงความไม่ใส่ใจและความไม่รับผิดชอบของนักศึกษา  
    • ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อนำมาช่วยในการเรียนการสอน อาจารย์ควรปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  เพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะและสถานการณ์

การสอนทางคลินิก นับเป็นหัวใจสำคัญของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับนักศึกษาพยาบาลเพื่อการผลิตบัณฑิตพยาบาลที่พึงประสงค์และมีคุณภาพ วิชาชีพการพยาบาลเน้นที่การปฏิบัติการพยาบาล (Nursing as a practice) อาจารย์พยาบาลทางคลินิก (Clinical nurse instructors) จึงถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะหล่อหลอม ฝึกฝนและพัฒนานักศึกษาพยาบาลให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่เพียงพอเหมาะสมต่อการเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ดีต่อไปในอนาคต  ดังนั้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนของอาจารย์ทางคลินิกจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้นักศึกษาพยาบาลถึงพร้อมซึ่งวิชาความรู้ด้านวิชาชีพและจริยธรรมคุณธรรม เพื่อเป็นการจรรโลงวิชาชีพพยาบาลต่อไป

PDF Download


 

 

ผู้ถอดบทเรียน: อ.ชญาภา ชัยสุวรรณ, อ.ดร.อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์

รายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 20 คน

1  อาจารย์ กาญจนา ครองธรรมชาติ
2  อาจารย์จินตนา แสงงาม
3  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉันทิกา จันทร์เปีย
4  อาจารย์ชญาภา ชัยสุวรรณ
5  รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนี ประสบกิตติคุณ
6  อาจารย์ เบญจมาศ โอฬารรัตน์มณี
7  อาจารย์ ดร.พรรณรัตน์ แสงเพิ่ม
8  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุวดี พงษ์สาระนันทกุล
9  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา เสนะสุทธิพันธุ์
10 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วีรยา จึงสมเจตไพศาล
11 รองศาสตราจารย์ วิไล เลิศธรรมเทวี
12 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมพร สุนทราภา
13 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมหญิง โควศวนนท์
14 อาจารย์ สุดารัตน์ สุวรรณเทวะคุปต์
15 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์
16 อาจารย์สุพรรณิการ์ ปางบางพระ
17 อาจารย์สาธิมา สงทิพย์
18 รองศาสตราจารย์ อรุณรัศมี บุนนาค
19 อาจารย์ ดร.อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์
20 อาจารย์ อุดมญา พันธนิตย์