ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “ประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรภายนอกคณะฯ” เมื่อวันพุธที่ 17 สิงหาคม 2554 เวลา 12.00-13.00 น. ณ ห้องประชุม 711 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งนภา ผาณิตรัตน์ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งนภา ผาณิตรัตน์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นวิทยากร และให้บริการวิชาการ ในเรื่องการบำบัดดูแลด้านจิตสังคมให้กับผู้รับบริการในกลุ่มต่างๆ โดยได้เน้นถึงความสำคัญของการเป็นวิทยากรหรือผู้ให้บริการว่าควรมีสิ่งต่างๆ

ดังนี้

  • ความเข้าใจตนเอง เมื่อเราสามารถเข้าใจตนเองได้แล้ว เราก็สามารถที่จะทำความเข้าใจในตัวผู้อื่น หรือผู้รับบริการของเราได้ เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือ หรือให้การบริการได้อย่างถูกต้อง
  • ทัศนคติ เราควรมีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับบริการ ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือ ตัวเราเองต้องมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองก่อนเช่นกัน และต้องมีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำได้
  • การสร้างสัมพันธภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้ข้อมูล หรือเป็นสะพานที่จะเชื่อมระหว่างเรากับผู้รับบริการ เพื่อเป็นการลดช่องว่างที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด โดยวิธีการในการสร้างสัมพันธภาพนั้นมีหลากหลายวิธี อาจจะไม่ใช่ใช้วิธีการทักทายเพียงอย่างเดียว
  • การรู้จักสังเกต ควรรู้จักสังเกตผู้รับบริการ โดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก เพื่อที่เราจะได้เข้าถึงตัวของผู้รับบริการ และสามารถช่วยเหลือเขาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
  • การเอาใจใส่ และความสม่ำเสมอ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะได้ให้ผู้รับบริการนั้นเกิดความไว้วางใจ และยอมรับการให้บริการของเรา

เพราะในแต่ละกลุ่มที่ได้ไปให้บริการนั้นมีความแตกต่างกันของผู้รับบริการไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางด้านการศึกษา ครอบครัว ฐานะทางครอบครัว เป็นต้น ทำให้เราต้องให้ความสำคัญ ทำให้แต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มย่อมแตกต่างกันด้วย ดังนั้น ผู้ให้บริการควรมีการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดก่อนที่เราจะไปให้การบริการกับผู้รับบริการ


อาจารย์ฐินีรัตน์ ถาวร  ผู้บันทึก