ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “การจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎี แบบ Active learning”  เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 เวลา 12.30 -14.00 น. ห้องประชุม 1103/1-2 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์  เป็นวิทยากร

 

          รองศาสตราจารย์ ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ ได้นำเข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยกล่าวถึงความหมายและลักษณะสำคัญของการเรียนการสอนแบบ Active learning  ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง  พร้อมทั้งยกตัวอย่างกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Active learning เช่น Active reading, Brainstorming, Agree & disagree statement, Carousel, Concept map, Gallery walk, Jigsaw, Problem/project-based learning or Case study, Role playing, Think-pair-share, Predict-observe-explain, Clarification pause, Students’ reflection, Chain note, Analysis or reactions to videos  บทบาทที่สำคัญของผู้สอนคือ สร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วม และการเจรจาโต้ตอบที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สอนและเพื่อนในชั้นเรียน  จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ท้าทายและหลากหลาย  และวางแผนเกี่ยวกับเวลาในการจัดการเรียนการสอนอย่างชัดเจน ทั้งเนื้อหาสาระและกิจกรรม  ทั้งนี้ ครูผู้สอนต้องใจกว้าง และยอมรับความสามารถในการแสดงออกและความคิดเห็นของผู้เรียน

          สรุปประเด็นในการจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎี แบบ Active learning ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ดังนี้

 

          1) ข้อดี/จุดแข็งของการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning 

          ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า นักศึกษาชอบกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Active learning ในวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และวิชาอื่นๆ ในภาคทฤษฎี เช่น Case-based learning, Team-based learning, Brainstorming เป็นต้น  เพราะช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ และสืบค้นข้อมูลเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่กำหนดให้  นอกจากนี้  กิจกรรมที่นักศึกษาได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ และอาจารย์  รวมทั้งได้ทำข้อสอบ Quiz  ทั้งก่อน ในระหว่าง และหลังการเรียน ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจและจดจำเนื้อหาที่เรียนได้มากขึ้น  สำหรับด้านครูผู้สอน  พบว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ  Active learning ช่วยลดเวลาในการสอนแบบบรรยาย  และสามารถบูรณาการเนื้อหาที่เชื่อมโยงกันมาสอนไปพร้อมกันได้ 

          2) ความท้าทาย/ปัญหาที่พบในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning

          ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชี้ประเด็นความยากลำบาก/ปัญหาที่พบในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning  ดังนี้

          2.1 นักศึกษาชอบ/สนุกกับกิจกรรมแบบ Active learning แต่ไม่ต้องการให้สอนแบบนี้ทุกหัวข้อ เพราะมีงานต้องอ่านมากในการเตรียมตัวเรียน  มีอาจารย์หลายคนสอนและทุกคนต่างก็มอบหมายงานให้อ่าน โดยไม่ได้พิจารณาภาพรวมของงานทั้งหมด

          2.2 แม้ว่าวิธีการสอนจะเน้นให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา  แต่ข้อสอบส่วนใหญ่ยังเน้นที่การวัดความจำเนื้อหา  นักศึกษาทำข้อสอบไม่ได้และคะแนนไม่ดี

          3) แนวทางในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เสนอแนวทางในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนี้

          3.1 แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มย่อยๆ และจัดให้ครูสอนเป็นทีม เพื่อติดตามประเมินพัฒนาการและผลการเรียนรู้ของนักศึกษาในภาพรวมได้ รวมทั้งพิจารณาปรับการมอบหมายงานให้เหมาะสมกับการเรียนแบบ Active learning ทั้งรายวิชา

          3.2 วางแผนออกแบบการสอนให้ครอบคลุมเนื้อหาที่ต้องการวัดประเมินด้วยข้อสอบ (summative evaluation)  และมีความเชื่อมโยงของเนื้อหาแต่ละหัวข้อด้วย

          3.3 อาจมีการเตรียมวีดิโอสรุปเนื้อหาสำคัญของหัวข้อนั้นๆ เพื่อให้ศึกษาก่อนเรียน  และใช้เวลาในห้องเรียนสำหรับการวิเคราะห์/แก้ไขปัญหาจากกรณีศึกษา การนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  รวมทั้งการให้ข้อมูลป้อนกลับของครูผู้สอนด้วย

          3.4 การประเมินผลควรมีทั้ง formative และ summative evaluation มีวิธีการหลากหลาย โดยควรปรับข้อสอบให้สอดคล้องกับวิธีการสอน เช่น ข้อสอบวิเคราะห์สถานการณ์  หรือข้อสอบอัตนัยตอบสั้นๆ เป็นต้น

          3.5 ทีมผู้สอนควรมีการสังเกตการสอนในชั้นเรียน และให้ข้อมูลป้อนกลับแก่กัน เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนแบบ Active learning ต่อไป 

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้  ทำให้อาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทราบถึงแนวคิดของการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความท้าทาย/ปัญหาที่พบในการจัดการเรียนการสอน   และสามารถสรุปแนวทางในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ให้มีประสิทธิภาพต่อไป

..................................................................................................................

รองศาสตราจารย์ ดร.วัลยา ธรรมพนิชวัฒน์  ผู้ลิขิต


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330696