ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ Google Classroom และ Google Form” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 เวลา 13.00-14.30 น. ณ ห้องประชุม 1103/3 โดยมี อ.ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ เป็นวิทยากร 

 

          อ.ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ ได้นำเข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยอธิบายความแตกต่างของ Google classroom และ Google form ซึ่งสามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้ เช่น สร้างแบบประเมินการเรียนการสอนแบบ simulation หรือแบบ PBL ด้วย Google form แล้วนำไปแขวนไว้ที่ Google classroom เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาตอบแบบประเมินดังกล่าว หรือสร้างข้อสอบ Quiz ด้วย Google form แล้วนำไปแขวนไว้ที่ Google classroom ก็ได้เช่นกัน Google classroom จึงเป็นเหมือนห้องเรียนออนไลน์ที่ผู้สอนกับผู้เรียนสามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยกัน และสามารถบริหารจัดการการเรียนการสอนได้ เช่น การประกาศแจ้งข้อมูล การมอบหมายงาน และการทำข้อสอบออนไลน์ หรือแบบประเมินต่างๆ เป็นต้น 

          หลังจากนั้น อ. ชนิตาได้อธิบายขั้นตอนในการสร้างข้อสอบออนไลน์และแบบประเมินต่างๆ ด้วย Google form ประกอบด้วย 1) สร้างแบบฟอร์ม 2) ทำเฉลยและให้คะแนน 3) ส่งแบบฟอร์ม (email, link, QR code, HTML) และ 4) รายงานผล (โดยสรุป, รายบุคคล, รายข้อ) และได้กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้ Google form ดังนี้ 

          1) กระจายข้อมูลได้ทั่วถึงและรวดเร็ว ทาง e-mail, link, QR code หรือแขวนไว้ใน Google classroom 

          2) รวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น กราฟ ค่าเฉลี่ย พิสัย เป็นต้น 

          3) ลดการใช้กระดาษในการเรียนการสอน 

          4) ตรวจสอบรายชื่อ/เวลาที่ทำแบบทดสอบได้ 

          5) ให้คะแนนแบบฝึกหัดแต่ละข้อ และตอบกลับความคิดเห็น (feedback) ให้แก่นักศึกษาได้ 

          6) เพิ่มรายละเอียดของคำถามให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น รูปภาพ กราฟ วีดิโอ เป็นต้น  

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการใช้ Google form ในการจัดการเรียนการสอน สรุปได้ดังนี้ 

          1.การสร้างแบบฟอร์มและการตั้งค่าที่ setting 

               1.1 ควรเลือกชนิดของแบบฟอร์มให้เหมาะสมกับลักษณะคำตอบ เช่น ใช้ Checkboxes เฉพาะกรณีให้เลือกคำตอบได้มากกว่า 1 ข้อจากหลายตัวเลือก หรือใช้ Multiple grid/Scale สำหรับแบบประเมินการสอนที่ให้เลือกตอบเพียง 1 คำตอบจากหลายตัวเลือก  

               1.2 กําหนดให้มีการเก็บข้อมูลอีเมล์ของคนตอบหรือไม่ก็ได้ ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของแบบทดสอบหรือแบบประเมินนั้น ในกรณีที่ต้องการให้ feedback แก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ควรมีการเก็บข้อมูลอีเมล์ด้วย แต่ในกรณีที่เป็นแบบประเมินการสอนของอาจารย์ ที่ต้องการ blind ว่าคำตอบมาจากใคร ก็ไม่ต้องเก็บข้อมูลอีเมล์ของคนตอบ 

               1.3 ในการเก็บข้อมูลอีเมล์ของคนตอบ ไม่ควรจำกัดว่า ต้องเป็นอีเมล์ของมหิดลเท่านั้น เพราะอาจทำให้มีปัญหาไม่สามารถรวบรวมข้อมูลจากผู้เรียนทุกคนได้ เพราะต้องมีการ sign in ก่อน ซึ่งยุ่งยากในทางปฏิบัติ 

               1.4 ควรใช้ตัวเลขในแต่ละระดับ (rating scale) ของแบบประเมินแทนความหมายเป็นคำพูด (มากที่สุด, มาก, ปานกลาง, น้อย) เพื่อให้สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายขึ้น 

               1.5 การจัดเนื้อหาแบ่งเป็น section จะทำให้ต้องตอบให้ครบทุกข้อก่อนจึงจะทำ section ต่อไปได้ ดังนั้นกรณีเป็นข้อสอบที่ต้องการให้ย้อนกลับมาตอบ/แก้ไขได้ จึงไม่ควรแบ่งเนื้อหาเป็น section 

          2. การประมวลผลข้อมูล สามารถทำได้ด้วยการสร้างไฟล์ excel และนำข้อมูลมาคิดคำนวณค่าที่ต้องการ เช่น ค่าเฉลี่ยรายข้อ ร้อยละ เป็นต้น รวมทั้งสามารถรวบรวมความคิดเห็นเพิ่มเติม หรือข้อเสนอแนะได้ด้วย ซึ่งจะช่วยลดเวลาและความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกข้อมูล 

          3. การประยุกต์ใช้ Google form ในการจัดการเรียนการสอนวิชาต่างๆ 

               3.1 สร้างข้อสอบ Quiz ตรวจให้คะแนน และเฉลยคำตอบได้ในวิชาการพยาบาลเด็กและวันรุ่น 

               3.2 สร้างแบบประเมินการเรียนการสอนในวิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และวิชาการวิจัยขั้นแนะนำ รวมทั้งการติดตามประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว  

          จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ทำให้อาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทราบแนวทางในการนำ Google Classroom และ Google form มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งข้อเสนอแนะที่ได้จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะนำไปเสนอในคณะกรรมการดำเนินงานหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตเพื่อดำเนินการต่อไป

 

รศ.ดร.วัลยา  ธรรมพนิชวัฒน์ ผู้ลิขิต


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322678