ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “การนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมนานาชาติและการเรียนรู้” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560  เวลา 12.30 -13.30 น. ห้อง 1103/1-2  โดยมี อาจารย์ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ และอาจารย์กนกพร เอื้ออารีย์กุล เป็นวิทยากร

ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้

อาจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี คณะกรรมการการจัดการความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของภาควิชาฯ นำเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเกริ่นว่าการนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมนานาชาติถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกจากเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สากลแล้วยังช่วยเสริมสร้างประสบการณ์การนำเสนอผลงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ จึงเป็นการนำเสนอผลงานวิจัย 2 เรื่องโดย อาจารย์ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์และ อาจารย์กนกพร เอื้ออารีย์กุล ซึ่งจะนำเสนอวิทยานิพนธ์ในการประชุมวิชาการวิจัยนานาชาติ  International Nursing Research Conference 2017, จัดโดยสภาการพยาบาลร่วมกับ World Academy of Nursing Science เรื่อง “Culture, Co-creation, and Collaboration for Global Health” ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ดังนี้

อาจารย์ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ นำเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง "ผลของการสื่อสารด้วยเแอพพลิเคชันบนแท็บเล็ตต่อความพึงพอใจของบุคลากรทางการพยาบาลและผู้ดูแลในการสื่อสารกับผู้ป่วยเด็กที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ" (Effect of communication via tablet application on nursing personnel’s and caregivers’ communication satisfaction with pediatric patients on ventilators) ซึ่งมีรศ.ดร ทัศนีย์ ประสบกิตติคุณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก เป็นวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจมาก เนื่องจากผู้วิจัยได้พัฒนาสื่อ tablet application 

เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเด็กที่ใช้เครื่องช่วยหายใจสามารถสื่อสารกับพยาบาลและผู้ดูแลได้ เป็นงานวิจัยกึ่งทดลองโดยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างที่มีคูรสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบด้วยพยาบาล 44 คน ผู้ป่วยเด็กที่ใช้เครื่องช่วยหายใจและผู้ดูแล 18 ราย ผลการศึกษาพบว่าพยาบาล ผู้ป่วยและผู้ดูแลมีความพึงพอใจภายหลังการใช้ tablet application มากกว่าการสื่อสารแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( P<.05) ดังนั้นจึงควรสนับสนุนให้มีการผลิตสื่อดังกล่าวเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการตอบสนองความต้องการขณะที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยวาจาเนื่องจากใช้เครื่องช่วยหายใจได้

อาจารย์กนกพร เอื้ออารีย์กุล  นำเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “ผลของโปรแกรมกระตุ้นน้ำนมในมารดาของทารกเกิดก่อนกำหนดที่ผ่าตัดคลอดต่อปริมาณน้ำนมและระยะเวลาที่มารดามีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารก” ( The effect of establish breast milk program on milk volume and time to have adequate milk supply among mother of preterm infants deliveried by cesarean section) ซึ่งมีผศ.ดร พรรณรัตน์ แสงเพิ่ม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก  เป็นงานวิจัยกึ่งทดลอง ที่คัดเลือกจากมารดาที่มีคุณสมบัติตามกำหนด จำนวน 28 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 15 ราย กลุ่มทดลอง 13 ราย โดยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมกระตุ้นน้ำนมในมารดาของทารกเกิดก่อนกำหนดที่ผ่าตัดคลอดเพิ่มเติมจากการพยาบาลตามปกติ ซึ่งประกอบด้วย การให้ข้อมูลเกี่ยวกับทารก การประคบเต้านม การนวดเต้านม และการบีบเก็บน้ำนม เมื่อสิ้นสุดการศึกษา ได้วิเคราะห์ความแตกต่างของปริมาณน้ำนมที่เพิ่มขึ้นจากวันที่ 1-10 ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยในวันที่ 4 และวันที่ 10 หลังคลอดในกลุ่มทดลองเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>.05) และจำนวนวันเฉลี่ยที่มารดามีปริมาณน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของทารกในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>.05) ถึงแม้ว่าผลการวิจัยครั้งนี้ ไม่แตกต่างกันในเชิงสถิติ แต่พบว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำนมที่ได้แตกต่างกัน จึงทำให้มีผลสรุปที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องกลุ่มตัวอย่างซึ่งมีจำนวนน้อย จึงอาจส่งผลต่อความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ดังนั้นการศึกษาครั้งต่อไปควรเพิ่มขนาดกลุ่มตัวอย่างให้มากพอ และควรมีการพัฒนาโปรแกรมกระตุ้นน้ำนมในมารดาของทารกเกิดก่อนกำหนดที่ผ่าตัดคลอดต่อไป โดยเน้นให้มารดาได้มีการกระตุ้นน้ำนมอย่างสม่ำเสมอรวมถึงมีการประเมินและติดตามทั้งในโรงพยาบาลและหลังจากมารดากลับบ้านไปแล้ว

ภายหลังการนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ทั้ง 2 เรื่อง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการนำผลงานวิจัยไปใช้ นอกจากนี้ อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้กล่าวถึงการเรียนรู้ที่ได้ในการนำเสนองานวิจัยในการประชุมวิชาการวิจัยนานาชาติครั้งนี้ ได้แก่ การเตรียมนำเสนองานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษซึ่งแม้จะมีความยากและใช้เวลาในการเตรียมตัวมาก แต่ช่วยให้ได้ประสบการณ์ที่ดี ได้เรียนรู้ขั้นตอนของการเตรียมบทคัดย่อ การติดต่อประสานงานในการส่งบทคัดย่อและการลงทะเบียน online เป็นต้น จึงเสนอว่าเมื่อมีการประชุมนานาชาติ โดยเฉพาะที่จัดในประเทศไทย นับว่าโอกาสอันดีที่อาจารย์ควรมีโอกาสไปนำเสนองานต่อไป

ผศ.ดร. อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์ ผู้ลิขิต