การวิจัยเชิงปริมาณทางด้านสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ซึ่งมีมโนทัศน์ต่างๆ ทั้งที่สามารถบอกคุณลักษณะอย่างตรงไปตรงมาได้ เช่น น้ำหนักตัว   อุณหภูมิ  ผลการตรวจระดับสารเคมี หรือ สารต่างๆ ในเลือด และตัวแปรทางจิตวิทยาที่ไม่สามารถวัด และตรวจสอบได้ด้วยอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่บอกปริมาณ/ขนาดของสิ่งที่ต้องการวัดอย่างตรงไปตรงมา

หากแต่เป็นการวัดผ่านคำนิยามเชิงปฏิบัติการของมโนทัศน์ต่างๆ ที่ต้องการศึกษาดังนั้นการได้มาซึ่งเครื่องมือที่ระบุคุณลักษณะของมโนทัศน์ที่ต้องการศึกษาจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ข้อมูลที่ได้จากการวัดนั้นมีความถูกต้องตรงกับสิ่งที่ต้องการวัดอย่างแท้จริง และเชื่อมั่นว่าคะแนนที่ได้จากการวัดนั้นมีความแม่นยำไม่ว่าจะวัดในช่วงเวลาที่ต่างกัน ดังนั้นการพิจารณาเลือกเครื่องมือที่มีคุณภาพจึงมีความสำคัญ ผู้วิจัยจะต้องพิจารณาตั้งแต่ที่มาของเครื่องมือ การสร้างและพัฒนาเครื่องมือมีการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ได้เครื่องมือที่มีคุณภาพตรงตามมโนทัศน์ที่ต้องการศึกษา ในที่นี้จะกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในการวิจัยใน 3 แนวทางดังนี้

  1.  การสร้างเครื่องมือวิจัยเพื่อวัดมโนทัศน์ที่ได้กำหนดไว้แล้วในทฤษฎี ทฤษฎีหรือรูปแบบได้อธิบายความสัมพันธ์ของมโนทัศน์ต่างๆในการอธิบายปรากฎการณ์ในสังคม แต่อย่างไรก็ตามถ้าผู้วิจัยต้องการนำไปตรวจสอบหรืออธิบายในบริบทย่อยที่ต้องการศึกษา  ทฤษฎีได้กำหนดแนวทางทางการสร้างเครื่องมือเพื่อใช้วัดมโนทัศน์ในทฤษฎีนั้นๆเอาไว้ให้  เช่น ทฤษฎีการวางแผนพฤติกรรม ทฤษฎีนี้ได้มีการจัดทำแนวทางในการสร้างแบบสอบถามเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ของมโนทัศน์ ซึ่งมีเผยแพร่ในเว็บไซด์ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจวิธีการของการสร้างแบบสอบถามตามแนวทางที่ได้อธิบายไว้ จากนั้นสร้างข้อคำถามแบบปลายเปิดไปสัมภาษณ์หรือให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม จากนั้นนำคำตอบที่ได้มาวิเคราะห์เนื้อหาและนำไปสร้างข้อคำถามในแบบสอบถามเพื่อใช้วัดตัวแปรตามทฤษฎี จากนั้นจึงนำแบบสอบถามที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบความตรงของเนื้อหา ปรับแก้ไข และนำไปทดสอบความเชื่อมั่นของเครื่องมือกับกลุ่มคล้ายกลุ่มตัวอย่าง ก่อนที่จะนำไปใช้ในการเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างต่อไป   ในกระบวนการวิเคราะห์คุณภาพของเครื่องมือสามารถใช้วิธีการดังนี้  จากตัวอย่างของการสร้างข้อคำถามตามแนวทฤษฎีการวางแผนพฤติกรรม นำข้อคำถามที่สร้างขึ้นไปทดสอบหาอำนาจจำแนกของข้อคำถามในแบบสอบถาม โดยใช้สถิติค่าทีเปรียบเทียบค่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มคะแนนสูงและกลุ่มคะแนนต่ำ และคัดเลือกข้อคำถามที่ใช้ได้โดยประเมินจากข้อคำถามที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และนำไปทดสอบหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม นอกจากนี้อาจใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor analysis) ซึ่งเป็นสถิติที่สามารถนำมาใช้ในการจัดกลุ่มตัวแปรหรือองค์ประกอบจากข้อคำถามที่สร้างขึ้นได้
  2.  การสร้างเครื่องมือเพื่อวัดมโนทัศน์ใหม่ ซึ่งไม่เคยมีเครื่องมือที่ใช้วัดมาก่อนหน้านี้ การสร้างเครื่องมืออาจทำโดยการใช้ข้อมูลจากการวิจัยเชิงคุณภาพที่ศึกษาคุณลักษณะของมโนทัศน์นั้น มาการสร้างข้อคำถาม เช่น แบบสอบถามในการวัด Self-regaining Scale จากนั้นนำมาตรวจสอบโครงสร้างของมโนทัศน์ ทดสอบความตรงโดยหาความสัมพันธ์กับแบบสอบถามมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน  และหาค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือ 
  3. การยืมเครื่องมือจากต่างประเทศมาใช้  มโนทัศน์ในการวิจัยบางมโนทัศน์เป็นมโนทัศน์ที่มีการรายงานหรือเป็นที่รู้จักแล้วในวงวิชาการ และมีการพัฒนาแบบสอบถามมาตรฐานไว้แล้วแต่อยู่ในบริบทที่ต่างกัน และเป็นภาษาต่างประเทศ ผู้วิจัยสามารถต่อยอดแบบสอบถามมาตราฐาน โดยนำแบบสอบถามมาทำการแปลเป็นภาษาไทย และแปลย้อนกลับ (Back translation) วิเคราะห์และเพิ่มเติมข้อคำถามบางข้อที่เข้ากับบริบทของคนไทย และนำไปทดสอบทางสถิติเพื่อหาคุณภาพของแบบแบบสอบถามต่อไป 

โดยสรุปในการสร้างและพัฒนาคุณภาพเครื่องมือในการวิจัย ผู้วิจัยควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นพื้นฐานในการสร้างข้อคำถามของแบบสอบถามเพื่อจะได้ข้อมูลที่มีความตรงกับสิ่งที่จะศึกษา นอกจากนั้นกระบวนการทางสถิติที่ใช้ในการทดสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย เช่น ความเที่ยงตรง (Validity)  และความเชื่อมั่น (Reliability) ก็เป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยให้ผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพก่อนนำมาใช้ต่อไป

 

การนำความรู้ จากกิจกรรม KM ไปประยุกต์ใช้ 

ความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ได้ ดังนี้ นำไปใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้าง และพัฒนาแบบสอบถามในบทความวิจัยที่ได้อ่าน นำไปใช้ในการนิเทศนักศึกษาบัณฑิตศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา/สร้างแบบสอบถาม และนำไปใช้เกี่ยวกับการเลือกใช้เครื่องมือในการทำวิจัยต่อไป

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อติรัตน์วัฒนไพลิน
  2. รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์
  3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยาธัญญาดี
  4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภา ยุทธไตร
  5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงเพชร เกษรสมุทร
  6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งนภา ผาณิตรัตน์
  7. อาจารย์ ดร.ภาศิษฏา อ่อนดี
  8. อาจารย์ ดร.วิมลนันท์ พุฒิวณิชพงศ์
  9. อาจารย์ ดร.สุดารัตน์ เพียรชอบ
  10. อาจารย์ ดร.สุภาภัค เภตราสุวรรณ
  11. อาจารย์ ดร.อทิตยา  พรชัยเกตุ  โอว ยอง
  12. อาจารย์สาธกาพิมพ์รุณ
  13. อาจารย์กลิ่นชบา สุวรรณรงค์
  14. อาจารย์ฐินีรัตน์ ถาวร

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ เรื่อง การสร้างและพัฒนาเครื่องมือวิจัยให้มีคุณภาพ

วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 เวลา 12.00 – 13.00 น. 

ณ ห้อง 1103/1-2 อาคารพระศรีพัชรินทร์  คณะพยาบาลศาสตร์  บางกอกน้อย

วิทยากร: รองศาสตราจารย์ ดร. อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ และทีม

ผู้ลิขิต: อาจารย์กลิ่นชบา สุวรรณรงค์


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1330794