คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และคณะกรรมการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นภาวะซึมเศร้า โดยมีทีมวิทยากรจากภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่อง “ทำอย่างไรเมื่อวัยรุ่นซึมเศร้า” ซึ่งทีมวิทยากรประกอบด้วย รองศาสตราจารย์อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพร ว่องศิริมาศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วารีรัตน์ ถาน้อย และอาจารย์พวงเพชร เกษรสมุทร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 ณ ห้อง 1103/1-2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ ได้กล่าวถึงประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาการซึมเศร้า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า และวิธีการช่วยเหลือเมื่อพบวัยรุ่นซึมเศร้า โดยคำว่าวัยรุ่นนั้น ปกติมักจะหมายถึงผู้ที่อายุอยู่ระหว่าง 9-19 ปี บางครั้งอาจขยายได้ไปจนถึงอายุ 24 ปี  แต่ในปัจจุบันพบว่าเด็กมักจะโตเร็วขึ้น อาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิต วัยรุ่นบางคนไม่สามารถปรับตัวได้ จึงทำให้พบว่าวัยรุ่นเกิดภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ภาวะผิดปกติ เพราะถ้าเราสามารถจัดการได้ ภาวะซึมเศร้านี้ก็จะหายไปได้

โดยทั่วไปแล้วในการที่จะบอกว่าเกิดภาวะซึมเศร้านั้น เราจะมีเกณฑ์ที่ใช้ในการวัดและประเมินหลายแบบ โดยจะต้องมีอาการอย่างน้อย 5 อาการ ต้องรุนแรงจนทำงานไม่ได้ และมีอาการติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ มีอารมณ์เศร้า หมดความสนใจในสิ่งที่ตนเองเคยสนใจ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีอาการเศร้า ห่อเหี่ยว ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากทำอะไร ซึ่งวัยรุ่นอาจไม่ออกอาการเศร้าให้เห็นอย่างชัดเจน บางคนมีการเรียนตกต่ำ ดื่มสุรา หมกมุ่น บางคนออกอาการทางกาย มีอาการปวดศีรษะ ไม่อยากเรียนหนังสือ

ทีมวิทยากรได้ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยพบเด็กวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า โดยพบว่าวัยรุ่นจะมีอาการหงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ไม่อยากทำกิจกรรม การเรียนตกต่ำ พฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น บางคนซึมลง แยกตัว เด็กผู้ชายมักแสดงออกมาในแนวก้าวร้าวและโดดเรียน ทั้งนี้เพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้า ส่วนเด็กผู้หญิงจะร้องไห้ง่าย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเวลาที่เด็กไปโรงเรียนมักจะถูกมองว่าเป็นเด็กเหลือขอ แล้วก็ทำโทษเด็กโดยที่ไม่ทราบเลยว่าเด็กเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นแล้ว ซึ่งถ้าเป็นมากๆ แล้วหาทางออกไม่ได้ก็อาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

ในการประเมินว่าเด็กเกิดภาวะซึมเศร้านั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพร ว่องศิริมาศ ได้เล่าว่าสามารถใช้แบบประเมิน ของกรมสุขภาพจิตในการประเมินภาวะนี้ ซึ่งได้เคยลองใช้ประเมินในเด็กที่มีแม่ภาวะซึมเศร้า พบว่าเด็กมีภาวะซึมเศร้าด้วยถึง 60% อาจารย์พวงเพชร เกษรสมุทร ก็ได้ใช้แบบประเมินเดียวกันในการประเมินแต่ได้เพิ่มการสัมภาษณ์ด้วย ทำให้สามารถแยกได้ว่าเด็กมีภาวะ critical Depression หรือไม่ ซึ่งเด็กที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแล ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์วารีรัตน์ ถาน้อย ได้ใช้แบบวัดที่วัดด้าน Depression, Anxiety, Hopeless และ Suicide Behavior 

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้านั้น ทีมวิทยากรได้เล่าว่าตัวแปรที่มีผลต่อภาวะซึมเศร้าจะมีอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ สิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม ที่เหลือจะเป็นปัจจัยส่งเสริม เช่น เพศ ความเครียด การสนับสนุนทางสังคม และ Self Esteem ได้มีคำถามว่า “แล้วกรณีที่พ่อมีภาวะซึมเศร้า จะมีผลกับลูกหรือไม่” ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพร ว่องศิริมาศ ตอบว่ามีพบบ้างแต่น้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะศึกษากับแม่มากกว่า นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ ยังได้กล่าวเสริมว่าเด็กที่ครอบครัวมีภาวะซึมเศร้า นอกจากจะเกิดภาวะซึมเศร้าด้วยแล้ว ยังซึมซับวิธีการแก้ปัญหาของคนที่มีภาวะซึมเศร้าอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการที่จะลดภาวะซึมเศร้าในเด็กจะต้องสร้างให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองด้วย

ตอนนี้ก็มาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว เราจะมีวิธีการช่วยเหลือเมื่อพบวัยรุ่นซึมเศร้าได้อย่างไร และการฆ่าตัวตายกับภาวะซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ผู้ช่วยศาสตราจารย์วารีรัตน์ ถาน้อย เล่าว่าจริงๆ แล้วมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย แต่ไม่ใช่ว่าวัยรุ่นทุกคนจะต้องฆ่าตัวตาย จากประสบการณ์ที่พบ เด็กบางคนเกิดภาวะซึมเศร้าแต่ก็ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่บางคนจะมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น มองไม่เห็นอนาคตตนเอง สิ้นหวัง ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กมองว่าทางออกคืออะไร ก็เลยมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกของชีวิต แต่อย่างไรก็ตามพบว่า 12% ของเด็กที่มีภาวะซึมเศร้าเท่านั้นที่คิดฆ่าตัวตาย แต่เด็กบางคนเพียงแค่ขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย ทั้งนี้เพื่อให้คนสนใจเขา แต่ก็มีกลุ่มที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นภาวะซึมเศร้าจึงเป็นเพียงตัวบ่งชี้เท่านั้นแต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ส่วนในเรื่องของการสนับสนุนทางสังคมนั้น พบว่าถ้าสนับสนุนดีๆ สามารถตรวจพบได้เร็ว ก็จะสามารถช่วยเหลือเด็กให้ลดภาวะซึมเศร้าลงได้ ดังนั้นวิธีการช่วยเหลือที่ดีที่สุดก็คือ การค้นหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เราต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก พยายามทำให้เด็กมองในมุมบวก และให้ความใส่ใจกับเด็กให้มากขึ้น

รองศาสตราจารย์อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ ได้ช่วยสรุปประเด็นของวิธีการช่วยเหลือให้กับพวกเราดังนี้ enligneviagra.net

  1. จัดการกับอาการซึมเศร้า โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  2. ปรับเปลี่ยนวิธีคิด หาสิ่งที่เป็นบวกในเหตุการณ์
  3. หาสาเหตุของปัญหาว่าคืออะไรและหาทางแก้
  4. เพิ่มปัจจัยปกป้อง ทำให้เด็กรู้สึกมี Self Esteem

สำหรับการเสวนาในวันนี้ ทางคณะกรรมการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมคงได้ฟังประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่อง “ทำอย่างไรเมื่อวัยรุ่นซึมเศร้า” ของทีมวิทยากรแล้ว ถ้ามีสิ่งใดที่อยากจะแลกเปลี่ยนก็สามารถเล่าสู่กันฟังได้ค่ะ

 


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Show Case Best Practice 2564

Show Case Best Practice 2565

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1322526