การรักษาด้วยการผ่าตัดนับเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในผู้ป่วยกลุ่มโรคกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อ โดยเฉพาะในกลุ่มข้อเสื่อมในระยะท้าย ผู้ป่วยมักมีอาการแสดง ในด้านของอาการปวด การทำหน้าที่ของข้อผิดปกติ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมุ่งเน้นผลลัพธ์การบรรเทาอาการปวด คงการทำหน้าที่ของข้อต่างๆ และคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

 

การประเมินผลลัพธ์ของการรักษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นผลลัพธ์การผ่าตัดในกลุ่มผู้ป่วยข้อเสื่อม คือ การฟื้นตัวหลังผ่าตัด สามารถลุกเดินได้เร็ว การประเมินการฟื้นตัวหลังผ่าตัดในระยะแรกเป็นการประเมินจากบุคคลกรทางการแพทย์หรือแพทย์ผู้ทำการรักษาประเมินการลงเดิน ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด อัตราการตาย จำนวนวันนอนโรงพยาบาล และอายุการใช้งานของ prosthesis ร่วมกับการประเมินโดยการทดสอบสมรรถภาพของข้อ เช่น การประเมินองศาการงอของข้อเป็นต้น ต่อมามีการพัฒนาการประเมินเป็นการประเมินผลการรักษาตามการรับรู้ของผู้ป่วย

แบบประเมินที่มีการนำมาใช้ประเมินผลลัพธ์การรักษาหรือการฟื้นตัวหลังผ่าตัดในผู้ป่วยกลุ่มโรคทางกระดูก กล้ามเนื้อและข้อ ที่มีค่าความเที่ยงและความตรงที่น่าเชื่อถือในผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งเป็นการประเมินในด้านอาการ การทำหน้าที่ของข้อ และคุณภาพชีวิต เช่น แบบประเมิน The western Ontario and McMaster University Osteoarthritis Index (WOMAC) เป็นแบบประเมินที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ประเมินผู้ป่วยกลุ่มโรคข้อเสื่อม ในการติดตามผลการรักษาทั้งที่ผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ประเมินมิติของอาการปวด ข้อฝืด และการใช้ข้อเข่าในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน แบบประเมิน Knee injury and osteoarthritis outcomes score (KOOS) เป็นแบบประเมินที่พัฒนาขึ้นใช้ประเมินการฟื้นตัวในผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บของข้อเข่า เช่น ACL injury และต่อมามีการนำมาใช้ในการประเมินในกลุ่มผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แบบประเมิน KOOS เป็นการประเมินในมิติของ อาการปวด อาการอื่นๆ การทำกิจวัตรประจำวัน การออกกำลังกายและนันทนาการ และคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับข้อเข่า และแบบประเมินที่มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในประเมินมิติคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้แก่ แบบประเมิน 36-Item Short-Form Health survey (SF-36) ทั้งนี้แบบประเมิน WOMAC แบบประเมิน KOOS และแบบประเมิน SF-36 มีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยใช้ประเมินการฟื้นตัวและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มโรคกระดูก กล้ามเนื้อ และข้ออย่างกว้างขวาง เป็นแบบประเมินที่มีความน่าเชื่อถือและมีความตรงที่ยอมรับได้ในการใช้ติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยข้อเสื่อม

เอกสารอ้างอิง

กานดา, ชัยภิญโญ. (2552). ความน่าเชื่อถือในการวัดซ้ำและความตรงแบบประเมินข้อเข่าเสื่อม knee osteoarthritis outcome score (KOOS) ฉบับภาษาไทย. วารสารกายภาพบำบัด, 31(2), 67-76.
Beard, David J., Knezevic, Kristina, Al-Ali, Sami, Dawson, Jill, & Price, Andrew J. (2010). The use of outcome measures relating to the knee. Orthopaedics and Trauma, 24(4), 309-316.
BoonsinTangtrakulwanich ,SuttiWiwatwongwana , &VirasakdiChongsuvivatwong , Alan F Geater. (2006). Comparison of Validity, and Responsiveness between General and Disease-Specific Quality of Life Instruments (Thai Version) in Knee Osteoarthritis. J Med Assoc Thai, 89(9), 1454-1459.
Kuptniratsaikul, Vilai, & Rattanachaiyanont, Manee. (2007). Validation of a modified Thai version of the Western Ontario and McMaster (WOMAC) osteoarthritis index for knee osteoarthritis. Clinical Rheumatology, 26(10), 1641-1645.
Rodriguez-Merchan, E. C. (2012). Knee instruments and rating scales designed to measure outcomes. Journal of Orthopaedics & Traumatology, 13(1), 1-6.


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1468918