คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2553 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 เม.ย. 54 เป็นต้นไป
มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ให้เลื่อนเงินเดือน ปีงบประมาณละ 2 ครั้ง คือ วันที่ 1 เม.ย. และวันที่ 1 ต.ค.
2. การเลื่อนเงินเดือนให้นำผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด มาประกอบการพิจารณา รวมทั้งให้นำข้อมูลการลา พฤติกรรมการมาทำงาน การรักษาวินัย การปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ และข้อควรพิจารณาอื่นมาประกอบการพิจารณาด้วย
3. การเลื่อนเงินเดือนแต่ละครั้งให้เลื่อนได้ไม่เกินเงินเดือนสูงสุดของตำแหน่ง
4. ข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดหรือใกล้ถึงเงินเดือนสูงสุดของตำแหน่งให้ได้รับเป็นค่าตอบแทนพิเศษ
5. การเลื่อนเงินเดือนข้าราชการแต่ละคนในแต่ละครั้งให้เลื่อนได้ในอัตราไม่เกินร้อยละหกของฐานในการคำนวณ
6. การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการในสังกัด ครั้งที่ 1 (1 เมษายน) และครั้งที่ 2 (1 ตุลาคม)ภายในวงเงินร้อยละ 3 ของเงินเดือนที่จ่ายให้ข้าราชการ ณ วันที่ 1 มีนาคม และ 1 กันยายน ตามลำดับ ทั้งนี้ ให้คำนวณโดยรวมเงินเดือนข้าราชการทุกตำแหน่งในสังกัดที่มีผู้ครองตำแหน่งอยู่
7. ให้เลื่อนเงินเดือนเป็นจำนวนร้อยละของฐานในการคำนวณ ซึ่งมี 2 ระดับ คือ ระดับบนและระดับล่าง ตามช่วงเงินเดือนในแต่ละประเภทและระดับตำแหน่ง (รายละเอียดตามเอกสารแนบประกาศ ก.พ.อ.ข้างต้น)
8. การเลื่อนเงินเดือนโดยมิได้นำผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการมาประกอบพิจารณา แต่ใช้วิธีการหารเฉลี่ย ให้ทุกคนได้รับการเลื่อนเงินเดือนในอัตราร้อยละที่เท่ากันจะกระทำมิได้และ ให้นำผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการและปฏิบัติงานทุกแห่งมาประกอบการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนด้วย
9. การเลื่อนเงินเดือนให้ใช้ฐานการคำนวณและช่วงเงินเดือนสำหรับการเลื่อนเงินเดือนในแต่ละประเภทและระดับตำแหน่งตามที่ ก.พ.อ. กำหนด
10. ข้าราชการที่จะต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ และอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้เลื่อนเงินเดือน ให้เลื่อนเงินเดือนในวันที่ 30 ก.ย. ของปีที่จะพ้นจากราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ
11. ข้าราชการที่ถึงแก่ความตายก่อน หรือในวันที่ 1 เม.ย. หรือ 1 ต.ค. และอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้เลื่อนเงินเดือน ให้เลื่อนเงินเดือนในวันที่ข้าราชการผู้นั้นถึงแก่ความตาย เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ โดยในครึ่งปีที่แล้วมาได้ปฏิบัติราชการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย (ครึ่งปีที่แล้วมา หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่ 1 ต.ค. – 31 มี.ค. หรือ 1 เม.ย. – 30 ก.ย.)
12. ให้มีการแจ้งผลการเลื่อนเงินเดือนให้ข้าราชการทราบเป็นข้อมูลเฉพาะแต่ละบุคคล โดยการแจ้งผลการเลื่อนเงินเดือน ประกอบด้วย อัตราร้อยละที่ได้รับการเลื่อนฐานในการคำนวณ จำนวนเงินที่ได้รับการเลื่อน และเงินเดือนที่ได้รับเมื่อเลื่อนเงินเดือนแล้ว กรณีข้าราชการที่ไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือนให้แจ้งเหตุผลที่ไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือน
13. ข้าราชการที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1) มีผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าระดับที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนด
2) ไม่ถูกสั่งลงโทษทางวินัยที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์ / ไม่ถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษในคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ / ความผิดที่ทำให้เลื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งมิใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
3) ไม่ถูกสั่งพักราชการเกินกว่า 2 เดือน
4) ไม่ขาดราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
5) ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการไม่น้อยกว่า 4 เดือน
6) ผู้ลาศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัยในประเทศ / ต่างประเทศ ต้องมีเวลาปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่า 4 เดือน
7) ผู้ลาติดตามคู่สมรส ต้องมีเวลาปฏิบัติราชการไม่น้อยกว่า 4 เดือน
8) ไม่ลา / มาทำงานสาย เกินจำนวนครั้งที่ผู้บังคับบัญชา / ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือน กำหนดเป็นหนังสือไว้ก่อนแล้ว
9) ต้องมีเวลาปฏิบัติราชการ โดยมีวันลาไม่เกิน 23 วัน แต่ไม่รวมวันลาตามข้อ 6) หรือ 7) และวันลาดังนี้
- ลาอุปสมบท / ลาไปพิธีฮัจย์
- ลาคลอดบุตรไม่เกิน 90 วัน
- ลาป่วยซึ่งจำเป็นต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานาน รวมกันไม่เกิน 60 วันทำการ
- ลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะปฏิบัติหน้าที่ / เดินทางไป/กลับจาการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามหน้าที่
- ลาพักผ่อน
- ลาเข้ารับการตรวจเลือก/ เตรียมพล
- ลาไปปฏิบัติงานในองค์กรระหว่างประเทศ
สรุปโดย นางสาวกรุณา คุ้มพร้อม หัวหน้างานทรัพยากรบุคคล