ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “เทคนิคการสร้างและการปรับปรุงข้อสอบเชิงปฏิบัติ” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2554 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม 801/1 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ถวิล นภาพงศ์สุริยา ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถวิล นภาพงศ์สุริยา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำข้อสอบของภาควิชาฯ ในวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีภาวะสุขภาพจิตเบี่ยงเบน และข้อสอบในการสอบรวบยอดหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากที่ได้ทำการบรรยายถึงเทคนิคของการออกข้อสอบ โดยเฉพาะข้อสอบปรนัยซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้ในการออกข้อสอบมากที่สุดของคณะฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถวิล นภาพงศ์สุริยา ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ลองสร้างข้อสอบและทำการวิพากษ์ข้อสอบ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ดังมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

เทคนิคการออกข้อสอบปรนัย (objective test)

ข้อสอบปรนัย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือคำถาม และคำตอบ ตัวคำถามของข้อสอบปรนัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ตอบได้แสดงความรู้ความสามารถต่างๆ ตามที่ผู้ถามต้องการ ซึ่งจะวัดตั้งแต่ความจำผิวเผินไปจนถึงวัดพฤติกรรมที่ลึกซึ้งคือการประเมินค่า คำถามแต่ละข้อจะถามเฉพาะจุดเล็กๆ ของเนื้อหา ดังนั้นจึงมีจำนวนมากข้อ ส่วนคำตอบของคำถามประเภทนี้ผู้ตอบต้องใช้เวลาในการคิดและตอบเป็นส่วนใหญ่ การเขียนตอบจะใช้เวลาน้อยซึ่งอาจเขียนเป็นประโยคสั้นๆ หรือทำเครื่องหมายบนคำตอบที่ต้องการ แบ่งได้ 5 ประเภทคือ  

1. ข้อสอบแบบตอบสั้นๆ (short answer test) ลักษณะข้อสอบ จะประกอบด้วยคำถามที่สมบูรณ์ ตั้งปัญหาเป็นรูปคำถามที่มีคำตอบตายตัวแน่นอน  กำหนดให้ผู้ตอบแสดงความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยการเขียนคำตอบเพียงสั้นๆ 

ข้อดี

1. สร้างง่าย สะดวกรวดเร็ว
2. เขียนคำถามได้มากข้อและเขียนคำตอบได้ง่ายกว่าข้อสอบอัตนัย
3. เหมาะสำหรับวัดพฤติกรรมความรู้-ความจำ

ข้อจำกัด

1. ยากที่จะเขียนคำถามเพื่อให้ได้เพียงคำตอบเดียว
2. ตรวจยากกว่าข้อสอบปรนัยประเภทกำหนดคำตอบมาให้
3. บางครั้งอาจเกิดปัญหาในการตรวจให้คะแนน เช่น ผู้ตอบใช้ภาษาผิดพลาด
4. ไม่เหมาะที่จะวัดพฤติกรรมขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินค่า

2. ข้อสอบแบบเติมคำ (completion test) ลักษณะข้อสอบเติมคำจะเขียนประโยคหรือข้อความตอนนำไว้ แล้วเว้นว่างข้อความหรือท้ายข้อความสำหรับให้เติมคำ เพื่อให้ข้อความนั้นถูกต้องสมบูรณ์ การเว้นช่องว่างให้เติมคำ อาจเว้นมากกว่าหนึ่งแห่งก็ได้แต่ไม่ควรมากเกินไปและควรมีขนาดเท่าๆ กัน การเขียนคำถามให้ชัดเจนเฉพาะเจาะจงไม่กำกวม ให้ได้คำตอบที่สั้นที่สุดและถูกต้องเพียงคำตอบเดียว

ข้อดี

1. สร้างง่ายสะดวกและรวดเร็ว
2. โอกาสที่ตอบถูกโดยการเดามีน้อย
3. สามารถสร้างคำถามวัดในเรื่องหนึ่งๆ ได้หลายข้อ

ข้อจำกัด

1. วัดพฤติกรรมความรู้-ความจำ ซึ่งเป็นความรู้ขั้นต่ำ
2. ถ้าส่วนที่ต้องการเติมมีหลายเรื่อง การเว้นที่อาจเป็นการแนะคำตอบ
3. ขาดความเป็นปรนัยในกรณีที่เขียนประโยคนำไม่ดี

3. ข้อสอบแบบจับคู่ (matching test) ลักษณะข้อสอบ จะประกอบด้วยส่วนของคำถาม และคำตอบ โดยผู้ตอบจะต้องจับคู่ระหว่างคำถามและคำตอบที่กำหนดให้ตรงกัน หรือสัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผล การเขียนคำสั่งควรเขียนให้ชัดเจนว่าจะให้ผู้ตอบปฏิบัติอย่างไร จำนวนคำตอบควรมีมากกว่าจำนวนคำถาม 3-5 ข้อ คำที่อยู่ในส่วนของคำถามและคำตอบควรเป็นชนิดเดียวกันและเมื่อนำมาเข้าคู่กันแล้วจะได้ข้อความที่สอดคล้องกัน และควรวางตำแหน่งให้อยู่สลับกัน

ข้อดี

1. สร้างง่ายและประหยัดเวลา
2. ถามได้มากข้อในเวลาจำกัด
3. เหมาะสำหรับการวัดความจำ
4. ตรวจให้คะแนนสะดวกรวดเร็ว          
5. สามารถพัฒนาเป็นข้อสอบแบบเลือกตอบได้

ข้อจำกัด

1. ยากที่จะสร้างข้อคำถามให้เป็นเอกพันธ์กัน
2. วัดความสามารถชั้นสูงได้น้อย
3. ข้อสอบข้อท้าย ๆ มีโอกาสตอบถูกได้ง่าย

4. ข้อสอบแบบถูกผิด (true-false items) ลักษณะข้อสอบ เป็นข้อสอบที่ให้พิจารณาข้อความที่เป็นปัญหานั้นว่าถูกหรือผิดตามหลักวิชา โดยผู้ตอบต้องทำรหัสหรือเครื่องหมายลงที่ข้อความนั้นๆ ตามที่โจทย์กำหนด เช่น ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย เป็นต้น   การเขียนข้อสอบที่ต้องการจะถามให้อยู่ในรูปประโยคบอกเล่า โดยข้อความที่ถามไม่ควรจะยากเกินไป วางตำแหน่งข้อถูก-ผิด สลับกันอย่างไม่มีระบบ เพื่อป้องกันการเดา หลีกเลี่ยงการใช้คำปฏิเสธซ้อน หรือคำที่อาจเป็นการชี้แนะคำตอบได้ เช่นคำว่า ทั้งหมด เสมอๆ ทุกๆ ไม่มีเลย อาจจะ บางอย่าง 

ข้อดี

1. ตรวจง่าย รวดเร็ว ยุติธรรม มีความเป็นปรนัย
2. วัดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรู้ความจำได้ดี
3. สอบเนื้อหาวิชาได้มากกว่าข้อสอบแบบอื่นในเวลาที่เท่ากัน
4. ออกข้อสอบง่าย และได้จำนวนมากข้อ แต่ผู้สอบใช้เวลาทำน้อย
5.พัฒนาเป็นข้อสอบแบบเลือกตอบได้

ข้อจำกัด

1. ได้คะแนนจากการเดามีค่อนข้างสูง เพราะเลือกจากหนึ่งในสองอย่าง
2. ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยได้ว่า สาเหตุที่ทำข้อสอบผิดเนื่องมาจากอะไร
3. มีความเชื่อมั่นต่ำ ดังนั้นควรออกข้อสอบไม่น้อยกว่า 50 ข้อ
4. ส่วนมากวัดได้เฉพาะพฤติกรรมความรู้-ความจำ
5. ส่งเสริมการเรียนที่ไม่ดี เพราะทำข้อสอบเพียงแค่ทำเครื่องหมายถูกผิดเท่านั้น

5. ข้อสอบแบบเลือกตอบ (multiple choice test) ลักษณะข้อสอบ จะประกอบด้วยโจทย์หรือข้อความที่เป็นประโยคที่สมบูรณ์เป็นตัวคำถาม เพื่อวัดความรู้ความสามารถ และตัวเลือกตั้งแต่ 3 ตัวเลือกขึ้นไปอีก 1 ชุด รวมเป็น 1 ข้อ ในตัวเลือกนั้นจะมีทั้งคำตอบถูก (key) และคำตอบผิด (distracter) ที่เป็นตัวลวงมาให้พิจารณา

ข้อสอบแบบเลือกตอบจะมีคุณภาพมากหรือน้อย มักเกิดจากการเขียนตัวคำถาม และตัวเลือก รูปแบบคำถามแบบเลือกตอบที่นิยมมี 3 ประเภท คือ

1. ประเภทคำถามเดี่ยว (single question) เป็นข้อสอบเลือกตอบที่แต่ละข้อมุ่งถามเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และสมบูรณ์ในตัวเอง โดยไม่เกี่ยวพันกับข้ออื่นๆ เลย ซึ่งแต่ละข้อจะเป็นอิสระต่อกัน
2. ประเภทตัวเลือกคงที่ (constant choice) เป็นข้อสอบที่มีคำถามหลายข้อแต่มีตัวเลือกอยู่ชุดเดียว ใช้ตัวเลือกซ้ำกันได้ ตัวเลือกมีเพียง 4-5 ตัว ส่วนตัวคำถามมีกี่ข้อก็ได้ แต่นิยมใช้ 2-10 ข้อ
3. ประเภทสถานการณ์ (situational test) เป็นการยกข้อความหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวกับจุดประสงค์การเรียนการสอนให้ผู้ตอบอ่านและตอบคำถาม คำถามชนิดนี้มีคุณค่าตรงที่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถวัดสมรรถภาพสมองขั้นสูงได้ง่ายกว่าข้อสอบประเภทอื่นๆ

ข้อดี

1. วัดพฤติกรรมทางการศึกษาได้หลายด้าน ตั้งแต่ความรู้ความจำไปจนถึงการประมาณค่า
2. เป็นข้อสอบที่ตรวจให้คะแนนง่าย ถูกต้อง รวดเร็ว และมีความเป็นปรนัย
3. มีความเชื่อมั่นสูง เพราะมีจำนวนข้อสอบมาก และตอบถูกโดยการเดามีน้อย
4. สามารถใช้สัญลักษณ์ รูปภาพหรือกราฟมาเขียนข้อสอบได้
5. วินิจฉัยข้อบกพร่องในการเรียนได้
6. ควบคุมความยากง่ายของข้อสอบได้
7. วิเคราะห์ปรับปรุงคุณภาพข้อสอบได้

ข้อจำกัด

1. สร้างข้อสอบให้ดี ทำได้ยาก และใช้เวลานาน เพราะต้องมีคุณภาพดีทั้งตัวคำถามและตัวเลือก
2. ไม่เหมาะที่จะวัดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเสนอแนวคิด หรือทักษะการเขียน
3. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงในการสร้างข้อสอบ

หลักการสร้างข้อสอบแบบเลือกตอบ

1. ต้องยึดจุดประสงค์ในการสอนเป็นหลัก เขียนข้อสอบตามตารางวิเคราะห์หลักสูตรที่ได้กำหนดไว้ โดยจะต้องออกข้อสอบให้มีจำนวนข้อมากกว่าจำนวนข้อสอบในตารางวิเคราะห์หลักสูตร
2. คำถามควรเป็นประโยคคำถามที่สมบูรณ์ เพื่อจะช่วยให้มีความชัดเจน และเข้าใจง่ายกว่าประโยคบอกเล่า  การถามคำถามจะต้องสั้น กระทัดรัดและได้ใจความ เน้นจุดที่เป็นคำถามให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นปรนัย ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย ไม่ควรใช้ตัวเลือกซ้ำซ้อนกัน หรือมีความหมายเหมือนกัน
3. หลีกเลี่ยงคำถามที่เป็นประโยคปฏิเสธ โดยเฉพาะปฏิเสธซ้อน แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ประโยคปฏิเสธควรขีดเส้นใต้ให้ชัดเจน
4. ถามในสิ่งที่มีประโยชน์ สามารถหาข้อยุติได้ตามหลักวิชา เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิด หลีกเลี่ยงการถามความจำจากตำรา สิ่งที่เป็นความเชื่อ 
5. ตัวเลือกแต่ละตัวควรมีความยาวเท่าๆ กัน ถ้าตัวเลือกยาวไม่เท่ากัน ควรเรียงจากสั้นไปหายาว แต่ทั้งนี้ถ้าเป็น วัน เดือน พ.ศ. ตัวเลขหรือจำนวน ให้เรียงจากน้อยไปหามาก
6. ตัวเลือกต้องเป็นเอกพันธ์กัน (homogeneity) หรือไม่ก็มีโครงสร้างสอดคล้องกัน มีทิศทางเดียวกัน และเป็นชนิดหรือประเภท เดียวกันเช่น ถามการพยาบาลคำตอบก็ควรเป็นการพยาบาลทุกข้อ
7. ควรระมัดระวังการใช้ตัวเลือกประเภท ปลายเปิด และปลายปิด ซึ่งได้แก่ ถูกทุกข้อ ไม่มีข้อถูก ผิดทุกข้อ สรุปแน่นอนไม่ได้ เป็นต้น
8. ตัวเลือกแต่ละตัวต้องเป็นอิสระต่อกัน ไม่ก้าวก่ายกัน ควรกระจายตัวเลือกที่เป็นตัวถูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน และแต่ละตัวเลือกควรมีโอกาสเป็นตัวถูกในจำนวนที่เท่าๆ กัน
9. แต่ละข้อควรมีคำถามเดียวและมีคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงคำตอบเดียว       
10. คำตอบที่ถูกกับคำตอบที่ผิดต้องถูกต้องตามหลักวิชาไม่แตกต่างกันจนเด่นชัดเกินไป
11. ระวังการแนะคำตอบ
12. ข้อสอบที่ดีควรมีลักษณะ 5 ประการเป็นอย่างน้อย คือ ความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น ความยาก อำนาจจำแนก และความมีประสิทธิภาพ


อาจารย์กลิ่นชบา สุวรรณรงค์  ผู้บันทึก


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1468911