คณะกรรมการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ผู้เกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ Share & Learn คุยเพลินๆ กับครูผู้มากประสบการณ์ ปี 2560 เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2560 เวลา 13.30 - 15.30 น. ณ ห้องประชุมสงวนสุข ฉันทวงศ์ ชั้น 11 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย โดยมีรองศาสตราจารย์กันยา ออประเสริฐ รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน และรองศาสตราจารย์ศิริวรรณ์ สันทัด รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล เป็นวิทยากร และมีอาจารย์จิตต์ระพี บูรณศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นผู้ดำเนินรายการ
ซึ่งสามารถสรุปประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจได้ดังนี้
ผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจของอาจารย์
สิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุดคือการได้มาเป็นอาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีระยะเวลายาวนานถึง 44 ปี รองศาสตราจารย์ศิริวรรณ์ สันทัด กล่าวพร้อมรอยยิ้มและเล่าต่อว่า ท่านได้มีโอกาสปฏิบัติงานร่วมกับคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ถึง 7 ท่าน โดยปฏิบัติงานในฐานะอาจารย์ 38 ปี จากนั้นได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาเป็นคนที่ 7 ปฏิบัติงานในตำแหน่งนี้นาน 7 ปี และในปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล อาจารย์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการได้มาเป็นอาจารย์ในคณะพยาบาลศาสตร์ว่า ท่านถูกจองตัวให้มาเป็นอาจารย์ตั้งแต่ยังเรียนสาขาผดุงครรภ์ ครั้งนั้นท่านต้อง Turn Ward 1 ปี ในบทบาทของ Registered Nurse (RN) หลังจากที่ Turn Ward แล้วจึงมาทำหน้าที่อาจารย์สอนนักศึกษาในห้องคลอด แต่การเป็นอาจารย์ในสมัยนั้นไม่ได้ทำหน้าที่สอนสัปดาห์ละ 5 วันเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องขึ้นเวรบ่ายไปจนถึงสามทุ่ม และยังต้องไปฝึกปฏิบัติที่ต่างจังหวัด ซึ่งในครั้งนั้นอาจารย์ต้องไปฝึกที่จังหวัดนครปฐมนาน 2 สัปดาห์โดยไม่ได้กลับบ้าน ในช่วง 7 ปีแรกที่ทำงานท่านจึงรู้สึกเหนื่อยมาก จากนั้นอาจารย์ไปสอบเพื่อเรียนต่อในสาขาอนามัยครอบครัว ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เวลาเรียน 2 ปี โดยมหาวิทยาลัยมีข้อบังคับให้ทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งท่านก็สามารถผ่านมาได้อย่างสบายๆ เคล็ดลับของท่านในการเป็นอาจารย์คือ ทักษะต่างๆ เกิดจากการฝึกปฏิบัติบ่อยๆ ใจเย็นกับลูกศิษย์ สอนในสิ่งที่ถูกต้องและเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้กับลูกศิษย์อย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของการขอตำแหน่งทางวิชาการท่านกล่าวไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า ในครั้งนั้นทำงานเป็นอาจารย์มาเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 15 ก็เริ่มขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต่อมาอีก 5 ปีจึงได้ขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2550 เมื่อกล่าวถึงความภาคภูมิใจในการดำรงตำแหน่งด้านการบริหาร รองศาสตราจารย์ศิริวรรณ์กล่าวอย่างสดใสว่า ท่านมีความประทับใจในการทำงานด้านบริหาร ประทับใจผู้บริหารของคณะฯ ทุกระดับ รวมถึงประทับใจที่ได้ร่วมงานกับน้องๆ ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน และเมื่อกล่าวถึงการทำงานบริหารของภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ฯ นอกจากการปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอนแล้วท่านยังภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่กรรมการของภาควิชาฯ เป็นเวลา 16 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ท่านได้เข้าไปดูแลเรื่องสวัสดิการของภาควิชาฯ มีการจัดกิจกรรมออกบูธขายของเพื่อหารายได้เข้าภาควิชาฯ ทำให้ภาควิชาฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับความภาคภูมิใจของรองศาสตราจารย์กันยา ออประเสริฐ อาจารย์กล่าวว่าต้องแบ่งความภาคภูมิใจออกเป็น 2 ช่วงเวลา หลังจากที่ท่านสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะด้าน Medical - Surgical Nursing แล้ว จุดเริ่มต้นของการเป็นอาจารย์ในช่วงแรกคือ เมื่อครั้งที่ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ในภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ โดยรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนในห้องผ่าตัด ในเวลานั้นอาจารย์หาวิธีการให้นักศึกษาสนใจเข้ามาเรียนรู้ เพราะส่วนใหญ่นักศึกษาจะไม่อยากมาเรียนเพราะกลัวบรรยากาศการเรียนในห้องผ่าตัดที่มีแต่คนใส่ชุดเขียว และในสมัยนั้นพยาบาลในห้องผ่าตัดจะดุมาก นักศึกษาส่วนใหญ่มีปัญหาในการท่องจำชนิดของเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด มีความกังวลเมื่อต้องส่งเครื่องมือให้กับแพทย์ โดยอาจารย์มักจะสอนนักศึกษาว่าการส่งเครื่องมือให้กับแพทย์ทุกครั้งจะมีเหตุและผล นักศึกษาจะต้องเรียนรู้และคิดวิเคราะห์ให้ได้ว่าเครื่องมือใดใช้กับอวัยวะใด และเครื่องมือนั้นมีการทำงานอย่างไร ไม่ใช่รู้และจำเพียงอย่างเดียว ซึ่งเทคนิคการสอนนักศึกษาของอาจารย์ทำให้นักศึกษาลดความวิตกกังวลลงได้มาก ในปีต่อๆ มาจนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาเลือกเข้าเรียนที่ห้องผ่าตัดมากขึ้นจนต้องมีการคัดเลือกนักศึกษา และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลยังเป็นผู้คิดค้นชื่อหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยปริศัลยกรรม (Program of Nursing Specialty in Perioperative Nursing) โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based) เป็นพื้นฐานในการดำเนินการ นอกจากนี้ อาจารย์ยังกล่าวถึงเคล็ดลับของการเป็นอาจารย์ที่ดีคือต้องสอนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการเตรียมแผนการสอนที่ดีจะทำให้สอนนักศึกษาได้ดี และส่งผลให้นักศึกษามี Outcome ที่ดี ต้องมีการเตรียมเนื้อหาข้อมูลและเทคนิคต่างๆ ที่สำคัญต้องมีการเตรียมการสอนทุกครั้งก่อนเข้าสอน การถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา ครูจะต้องถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าสอนให้หมดไส้หมดพุง และหากได้รับมอบหมายให้สอนในวิชาที่ไม่ได้เป็นหน้าที่หลักก็ไม่ควรปฏิเสธให้รีบคว้าโอกาสไว้เพราะถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ที่ดี
ในช่วงต่อมาเป็นการปฏิบัติงานในด้านบริหาร อาจารย์ปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์เป็นเวลา 4 ปี ต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผนจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 10 ปี ซึ่งในระยะแรกที่ได้รับตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน ท่านได้รับคำแนะนำในการบริหารงานด้านนโยบายและแผนจากอาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ท่านเริ่มต้นจากการทำฐานข้อมูลด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2553 และเป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานการทำงานระหว่างงานนโยบาย แผน และงบประมาณกับงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งถือเป็นผลงานที่ท่านภาคภูมิใจเพราะมหาวิทยาลัยมาขอดูงานฐานข้อมูลฯ ของคณะฯ ด้วย และผลงานที่ภาคภูมิใจอีกด้านหนึ่งคืองานด้านพัฒนาคุณภาพ ซึ่งงานด้านนี้มีสิ่งที่ทำให้ภาคภูมิใจหลายอย่าง ได้แก่ การที่คณะฯ ผ่านการรับรองสถาบันการศึกษาวิชาการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสภาการพยาบาล เป็นระยะเวลาการรับรองสูงสุด คือ 5 ปี และการรับการตรวจประเมินตามเกณฑ์การศึกษาเพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (EdPEx) ที่มหาวิทยาลัยมาประเมินคณะฯ ซึ่งผลการประเมินได้คะแนนเกิน 330 คะแนน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะมีเพียง 3 คณะในมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้คะแนนอยู่ในระดับนี้ คือ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี และคณะเทคนิคการแพทย์ ส่งผลให้ในปีต่อไปคณะฯ จะต้องดำเนินการส่งประกวดเพื่อรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award (TQA) ซึ่งคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Total Quality Control (TQC) เป็นคณะแรกของมหาวิทยาลัย หากคณะฯ สามารถได้รางวัล TQC เราจะเป็นคณะพยาบาลศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้ แต่การที่เราจะทำให้คณะพยาบาลศาสตร์ได้รับรางวัลนี้เราจะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน และอาจเชิญรองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล มาสร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากรในคณะฯ ด้วย
ความประทับใจต่อคณะพยาบาลศาสตร์และเพื่อนร่วมงาน
รองศาสตราจารย์กันยา กล่าวถึงความประทับใจในส่วนนี้ว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งศึกษาในระดับปริญญาตรี ท่านมีความประทับใจการขึ้น Ward โดยมีอาจารย์อาภา ใจงาม เป็นผู้พานักศึกษารวมถึงอาจารย์ขึ้น Ward ในขณะนั้น อาจารย์อาภาเป็นแบบอย่างที่ดี ท่านน่ารัก สง่างาม และมีเทคนิคในการสอน ถือได้ว่าอาจารย์อาภาเป็น Idol ของอาจารย์ท่านหนึ่ง ต่อมาเมื่อเป็นอาจารย์ก็มีความประทับใจในหัวหน้าภาควิชาทุกท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมสิริ ทับแสง รองศาสตราจารย์สมพันธ์ หิญชีระนันท์ รองศาสตราจารย์เพ็ญศรี ระเบียบ รองศาสตราจารย์ผ่องศรี ศรีมรกต จนกระทั่งอาจารย์ได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ และท่านยังมีความประทับใจต่อผู้บริหารของคณะฯ ได้แก่ อาจารย์สงวนสุข ฉันทวงศ์ คุณหญิงดวงใจ สิงหเสนี รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ทวีลาภ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง รองศาสตราจารย์ ดร.กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล รองศาสตราจารย์ ดร.ฟองคำ ติลกสกุลชัย มาจนถึงคณบดีท่านปัจจุบันรองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล การดำเนินชีวิตไม่ว่าเมื่อเป็นนักศึกษาหรืออาจารย์ถือได้ว่าคุ้มค่ามากๆ และท่านตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ว่า จะทำงานที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพียงแห่งเดียว ไม่ทำที่อื่นอย่างเด็ดขาด เพราะท่านมีความผูกพันกับคณะฯ และประทับใจในผู้บริหารทุกท่าน อาจารย์ทุกภาควิชาและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานเป็นอย่างมาก
สำหรับรองศาสตราจารย์ศิริวรรณ์ กล่าวถึงความประทับใจในส่วนนี้ของท่านว่า มีความคล้ายคลึงกับรองศาสตราจารย์กันยา ท่านประทับใจผู้บริหารของคณะฯ คณบดีทุกท่าน ที่เอาใจใส่และห่วงใยน้องๆ ทุกคนในคณะฯ จะเห็นได้จากท่านคณบดีและผู้บริหารทุกท่านมักจะสอบถามความเป็นอยู่ของทุกคนในคณะฯ และยังให้ความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหัวหน้าภาควิชา และน้องๆ อาจารย์ทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน ทำให้คณะฯ สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และที่ลืมไม่ได้คือน้องๆ สายสนับสนุนทุกคน ทุกหน่วยงาน ก็ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเป็นอย่างดี ส่งผลให้คณะพยาบาลศาสตร์ สามารถเป็นที่ 1 ของประเทศไทย ยาวนานจนครบ 120 ปี
สิ่งที่อยากฝากไว้กับคณะพยาบาลศาสตร์ และน้องๆ
รองศาสตราจารย์กันยา ฝากข้อคิดไว้อย่างน่าประทับใจว่า สิ่งสำคัญคือเราทุกคนต้องตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง มีภาพลักษณ์ที่ดี หากองค์กรประสบความสำเร็จนั่นหมายถึงเราก็ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือความรักความสามัคคี หากทุกคนในองค์กรมีความรักใคร่กลมเกลียวกัน สร้างบรรยากาศในการทำงานแบบครอบครัวเดียวกัน ทำงานร่วมกันแบบพี่น้อง หากเกิดปัญหาพยายามระงับสติอย่าโกรธหรือหงุดหงิดง่าย ให้คิดไว้เสมอว่าทุกสิ่งไม่สามารถเป็นไปได้ตามที่เราตั้งใจไว้ หากเราทำใจให้ยอมรับกับสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ได้ ความสบายใจก็จะตามมา หากเราไม่สามารถทำใจยอมรับกับความผิดหวังเราอาจไม่สามารถควบคุมสติและอารมณ์ของเรา ซึ่งอาจส่งผลให้เราแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกไม่ดีกับเราได้ และที่สำคัญเมื่อมอบหมายงานให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาไปปฏิบัติ จะต้องอธิบายรายละเอียดของงานนั้นๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ หากเราปฏิบัติได้เช่นนี้แล้วย่อมส่งผลให้คณะพยาบาลศาสตร์ของเราประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่ตั้งไว้ได้
รองศาสตราจารย์ศิริวรรณ์ กล่าวถึงสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการนำพาคณะพยาบาลศาสตร์ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้คือค่านิยมองค์กร 3 ตัวที่เป็นหลัก ค่านิยมตัวแรก ได้แก่ H หมายถึงการเคารพให้เกียรติเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด รวมถึงการให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตัวที่สอง คือ A หมายถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง องค์กร และสังคม อย่าให้ความสำคัญกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว และตัวที่สาม คือ S หมายถึงการทำงานที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ทำงานเป็นทีมเดียวกันร่วมด้วยช่วยกัน และไม่ว่าจะทำงานใดๆ ควรคิดไตร่ตรองให้รอบคอบโดยสามารถยึดหลักธรรมคำสอนของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) ท่านได้ให้คติธรรมว่า เวลาของเราในชีวิตนั้นไม่นาน ให้สอนตัวเองไม่ต้องพยายามไปสอนผู้อื่น ชนะตัวเองอย่าเอาชนะผู้อื่น ทำสิ่งใดขอให้มีสติ ปัญญาจะเกิด ตนเองและครอบครัวจะมีความสุข
ในช่วงท้ายอาจารย์ทั้งสองท่านฝากข้อคิดกับทุกๆ คนว่า ขอให้น้องๆ ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อคณะพยาบาลศาสตร์ที่เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของพวกเราทุกคน ที่พวกเราทุกคนไม่สามารถทำสิ่งใดเพื่อตอบแทนพระคุณของคณะฯ ได้หมด
เมื่อจบการสัมภาษณ์ อาจารย์จิตต์ระพีได้อ่านบทกลอนที่เป็นสิ่งแทนใจพวกเราทุกคนมอบให้กับอาจารย์ทั้งสองท่านความว่า
“เมื่อถึงวันเวลาคราฟ้าเปลี่ยน กาลเกษียณเวียนมาน่าใจหาย
ต้องอำลาจากกันพลันเสียดาย แต่สายใยความผูกพันยังมั่นคง
คุณความดีที่ประจักษ์คือหลักฐาน ตรากตรำงานด้วยซื่อสัตย์สื่อประสงค์
พัฒนาคณะฯ ได้ยืนยง เกียรติดำรงคงอยู่คู่ความดี”
นางสาวสุฤดี โกศัยเนตร ผู้ลิขิต