ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “การอบรมซาร์เทียร์” เมื่อวันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2554 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม 801/1 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีรองศาสตราจารย์ อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ และอาจารย์ อทิตยา พรชัยเกตุ โอว ยอง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

รองศาสตราจารย์ อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ และอาจารย์ อทิตยา พรชัยเกตุ โอว ยอง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ในการเข้าอบรมซาร์เทียร์ และได้มีการนำรูปแบบของ SATIR TRANSFORMATIONAL SYSTEM THERAPY ที่วิทยากรได้ฝึกปฏิบัติในการอบรมเพื่อใช้ในการบำบัดผู้ป่วยมาเผยแพร่ให้กับผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และร่วมกันแลกเปลี่ยน โดยหลังจากการบรรยายก็ได้จัดให้มีกิจกรรมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติเพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้กับตนเองและผู้อื่นรวมทั้งผู้ป่วยได้

SATIR TRANSFORMATIONAL SYSTEM THERAPY เป็นรูปแบบของการบำบัดโดยให้ประเมินตนเองและผู้อื่น โดยตัว TRANSFORMATION จะต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ Life energy, Positive directional, Internal resource โดยในตัว Internal resource จะประกอบไปด้วย Unpredictable ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้เกิด Reaction (อารมณ์ต่างๆ) ขึ้น โดยอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า survival จากนั้นจะมีการแปลความหมายของอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามสถานการณ์ (Meaning) เพื่อให้เกิดการตัดสินใจ (Decision) ที่จะแสดงพฤติกรรมออกมา สำหรับตัวที่จะใช้ในการประเมินตนเองและผู้อื่น คือ อุปลักษณ์ภูเขาน้ำแข็งของบุคคล (PERSONAL ICEBERG METAPHOR) โดยเริ่มจากจุดยอดสุดของภูเขาน้ำแข็ง คือ พฤติกรรม (Behavior) หมายถึง การกระทำ เรื่องราวความเป็นไปต่างๆ ระหว่างขั้นนี้กับจุดยอดสุดของภูเขาน้ำแข็งจะมีรูปแบบการรับมือ (Coping stance) คั่นอยู่ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ถัดมาคือ ความรู้สึก (Feelings) เป็นสิ่งที่คนเราครอบครองมันอยู่เพราะฉะนั้นเราสามารถจัดการกับมันได้ เช่น ชื่นชมยินดี ตื่นเต้น โกรธ เจ็บ เศร้า เสียใจ ฯลฯ ถัดมาคือ ความรู้สึกเกี่ยวกับความรู้สึก (Feelings about feelings) คือการตัดสิน ซึ่งเป็นการตัดสินในสิ่งที่เราได้ทำลงไปแล้ว เช่น โมโหแล้วทะเลาะกับเพื่อน เมื่อนึกถึงการกระทำที่ทำลงไปเรารู้สึกว่าไม่น่าทำ ไม่น่าที่จะไปทะเลาะกับเพื่อนเลย คือเสียใจหรือรู้สึกผิดกับสิ่งที่ได้ทำลงไป เป็นต้น ถัดมาคือ การรับรู้ (Perception) เช่น ความเชื่อ สมมติฐาน ความเป็นจริงสำหรับบุคคล ความคิด แนวคิด ค่านิยม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากทั้งสิ้น ถัดมาคือ ความคาดหวัง (Expectation) ทั้งของตนเอง ของผู้อื่น และจากผู้อื่น ถัดลงมาอีกคือ ความโหยหา (Yearning) เช่น ความรัก การยอมรับ การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความสร้างสรรค์ การเกี่ยวข้องสัมพันธ์ เสรีภาพ ฯลฯ และสุดท้าย ฐานล่างสุดของภูเขาน้ำแข็ง คือ ตัวตน (I am) หมายถึง จิตวิญญาณ วิญญาณ พลังชีวิตสาระ แก่น การเป็นอยู่ ซึ่งเป็น Internal resource

สำหรับรูปแบบการรับมือ (Coping stance) คือ สิ่งที่เรานำมาประเมินตนเอง และผู้อื่น เพื่อทำให้เรานั้นมีความเข้าใจในตนเอง และผู้อื่นมากขึ้น แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ คือ Placating (สมยอม) Blaming (ตำหนิ)  Superreasonable (ใช้เหตุผลแบบล้ำลึก) Irrelervant (เฉไฉ) Congruent (สมดุล) ปกติที่เราใช้กันจริงๆ จะมีเพียง 4 ลักษณะ คือ

  • Placating (สมยอม) เป็นคนลักษณะที่มุ่งให้คนอื่นตลอดเวลา ไม่สนใจตนเอง (Internal resource ใส่ใจ เอื้ออาทร ไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น)
  • Blaming (ตำหนิ) เป็นคนลักษณะที่คอยกล่าวโทษ โกรธง่าย ขาดความรู้สึก คาดหวังกับผู้อื่นเสมอ (Internal resource ยืนหยัดในความคิดตนเอง เป็นผู้นำ)
  • Superreasonable (ใช้เหตุผลแบบล้ำลึก) เป็นคนลักษณะที่ไม่แสดงออกถึงอารมณ์ ไม่สนใจผู้อื่น สัมผัสอารมณ์ยาก ใช้แต่เหตุผล แต่เป็นคนอ่อนไหวง่าย โดดเดี่ยว (Internal resource มีสติปัญญา มีเหตุผล)
  • Irrelervant (เฉไฉ) เป็นคนลักษณะที่ไม่สนใจอะไรเลย หลีกเลี่ยงเรื่องส่วนตัวที่กระทบกับความรู้สึก (Internal resource อารมณ์ขัน ยืดหยุ่น มีไหวพริบ)

หลังจากที่ได้บรรยายเพื่อทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่ชัดเจนแล้ว วิทยากรทั้ง 2 ท่าน ยังจัดกิจกรรม workshop เล็กๆ ให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้มีโอกาสได้ลองประเมินบุคลิกภาพของแต่ละคนว่ามีลักษณะของบุคลิกภาพแบบใด ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้จริง


อาจารย์ฐินีรัตน์ ถาวร ผู้บันทึก