ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง  “การเขียนปัญหาทางการพยาบาลด้วย Concept Care Maps” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 เวลา 12.30 -14.00 น. ห้อง 1103/1-2 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วัลยา ธรรมพนิชวัฒน์ เป็นวิทยากร 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วัลยา วิทยากร ได้นำเข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์การนำ Concept Care Maps มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้ฝึกคิดอย่างเป็นระบบและมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) โดยแบ่งประเด็นในการพูดคุยเป็น 3 ประเด็น คือ 1) รูปแบบการเขียนปัญหาทางการพยาบาลด้วย Concept Care Maps  2) ตัวอย่างการเขียน Concept Care Maps ในคลินิก และ 3) การนำ Concept Care Maps ไปใช้ในการสอนภาคปฏิบัติ และการเขียนตำรา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

Concept Care Maps คือ Diagram ที่แสดงปัญหาของผู้ป่วย และการปฏิบัติการพยาบาล มีการนำมาใช้เพื่อจัดกลุ่มข้อมูลของผู้ป่วย วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูล กำหนดลำดับความสำคัญของปัญหา ช่วยให้ทีมที่ให้การดูแลรักษาเห็นภาพรวมของสถานการณ์ของผู้ป่วย และช่วยพัฒนารูปแบบแนวคิดร่วมกัน (a shared mental model) เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ 

ขั้นตอนของการเขียน Concept Care Maps มี 5 ขั้นตอน คือ 1)  กำหนดปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วย โดยมี 2 ส่วนที่สำคัญ คือ เหตุผลที่ต้องได้รับการดูแลรักษา และปัญหาสำคัญ  2) สนับสนุนปัญหาด้วยข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วย โดยระบุการประเมินที่สำคัญ  3) ลากเส้นเชื่อมโยงปัญหาที่สัมพันธ์กัน โดยใช้ตัวเลขจัดลำดับความสำคัญของปัญหา 4) เขียนปัญหาเป็นข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล กำหนดเป้าหมาย ผลลัพธ์ และการปฏิบัติการพยาบาล โดยระบุ 4.1) การประเมิน และการเฝ้าติดตามในเรื่องที่สำคัญ  และ 4.2) กิจกรรมในการบำบัดรักษา ยาที่ได้รับ และการสอนผู้ป่วย  5) ประเมินการตอบสนองของผู้ป่วย ทั้งนี้วิทยากรได้ยกตัวอย่างประกอบการบรรยายในเรื่องการเขียน Concept Care Maps ในคลินิกด้วย

สรุปประเด็นในการเขียนปัญหาทางการพยาบาลด้วย Concept Care Maps ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ดังนี้

1)ปัญหาที่พบในการนำไปใช้ในการสอนภาคปฏิบัติ

พบว่า มีปัญหาในการนำไปใช้ 2 เรื่อง คือ 1) อาจารย์บางคนอาจยังไม่เข้าใจสัญลักษณ์ที่ใช้ในการเขียน Concept Care Maps เช่น กากบาท เส้นประ เป็นต้น ทำให้อาจมีรูปแบบการเขียนที่แตกต่างกัน 2) อาจารย์บางคนไม่ได้มอบหมายให้นักศึกษาทุกคนเขียน Concept Care Maps แต่ให้เขียนเป็น Mind Mapping ในเรื่องที่นักศึกษาจำเป็นต้องทราบในหอผู้ป่วยนั้นๆ เช่น การให้ออกซิเจน เป็นต้น ทั้งนี้วิทยากรได้เสนอแนะว่า ควรให้นักศึกษาทุกคนเขียน Concept Care Maps  เนื่องจากเป็นกระบวนการฝึกให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์ข้อมูลจริงของผู้ป่วย

2)แนวทางการนำไปใช้ในการสอนภาคปฏิบัติ 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นด้วยกับการนำ Concept Care Maps ไปใช้ในการสอนภาคปฏิบัติซึ่งสามารถมองเห็นกลไกในการเกิดพยาธิสภาพของโรค และสามารถเชื่อมโยงปัญหาของผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น  สำหรับจุดเริ่มต้นในการเขียน Concept Care Maps นั้น สามารถเริ่มต้นจากพยาธิสภาพของโรคตามการวินิจฉัย หรืออาการที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลก็ได้ 

วิทยากรได้เสนอแนะแนวทางการเขียน Concept Care Maps ในการสอนภาคปฏิบัติว่า ควรลดการเขียนกลไกการเกิดพยาธิสภาพของโรคลง  เพิ่มเติมข้อมูลสนับสนุนในเรื่องการรักษา หรือยาที่ผู้ป่วยได้รับ  และอาจไม่ต้องระบุรายละเอียดของกิจกรรมการพยาบาล

3)แนวทางการนำใช้ในการเขียนตำราทางการพยาบาล

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นด้วยกับการนำ Concept Care Maps ไปใช้ในการเขียนตำราทางการพยาบาล  เพราะทำให้รูปแบบตำรามีความกระชับมากขึ้น และมีภาพสรุปของการพยาบาลที่ชัดเจนขึ้น 

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้  ทำให้อาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทราบถึงการเขียนปัญหาทางการพยาบาลด้วย Concept Care Maps ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาการนำไปใช้ในการเรียนการสอน และสามารถสรุปแนวทางการนำ Concept Care Maps ไปใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ และการเขียนตำราทางการพยาบาลต่อไป

อ. ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ ผู้ลิขิต