ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “การจัดสอบ OSCE แบบใหม่ วิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 เวลา 12.30-13.30 น. ณ ห้อง 1103/1-2 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์ และอ.กรรณิการณ์ ชัยลี วิทยากร
อ.อุดมญา พันธนิตย์ ผู้ดำเนินรายการ ได้นำเข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเกริ่นนำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสอบ OSCE แบบเก่าของปีการศึกษา 2559 ซึ่งมีการสอบทักษะการฉีดยา การดูดเสมหะ การให้อาหารทางสายให้อาหาร การอาบน้ำทารก และการจัดการเล่น แต่พบปัญหาคือ นักศึกษาท่องจำมาสอบ ขาดการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจแก้ปัญหา ดังนั้น ในปีการศึกษา 2560 คณะกรรมการดำเนินงานหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตจึงมีมติให้ปรับวิธีการสอบ OSCE ใหม่ โดยจัดทำโจทย์เป็นสถานการณ์ที่ต้องมีการทำ Procedure สองอย่างใน 1 สถานการณ์และมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ทำให้ต้องมีการตัดสินใจแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์และใช้เหตุผลในการปฏิบัติการพยาบาลด้วย มีทั้งหมด 4 สถานการณ์ ประกอบด้วย 1) การฉีดยาและการดูดเสมหะ 2) การให้อาหารทางสายให้อาหารและการอาบน้ำทารก 3) การดูดเสมหะและการให้อาหารทางสายให้อาหาร และ 4) การพ่นยาและการดูดเสมหะ ซึ่งได้นำมาใช้ในการสอบนักศึกษาในกลุ่ม 1.1, 1.2 และ 2.1 สรุปประเด็นเกี่ยวกับการจัดสอบ OSCE ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้
1. ปัญหาและอุปสรรคในการจัดสอบ OSCE แบบใหม่
จากความคิดเห็นจากอาจารย์ผู้ร่วมสอบ ปัญหาและอุปสรรคในการจัดสอบ OSCE แบบใหม่ใน 3 กลุ่มที่ผ่านมา มีดังนี้ 1) ใช้โจทย์สถานการณ์เดิมในการสอบทั้ง 3 กลุ่ม อาจมีการส่งต่อข้อสอบจากคนที่สอบก่อน จึงทำให้เหมือนนักศึกษาท่องจำมาสอบและไม่เกิดการคิดวิเคราะห์ 2) เวลาไม่เพียงพอสำหรับบางฐาน เช่น การให้อาหารทางสายให้อาหารและการอาบน้ำทารกนักศึกษาส่วนใหญ่ทำให้ไม่ทัน
จากการประเมินผลของนักศึกษาทั้ง 3 กลุ่มพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การสอบแบบนี้ดีแล้วทำให้มีการตัดสินใจใกล้เคียงสถานการณ์จริง แต่มีบางคนเสนอให้เพิ่มเวลาในบางสถานการณ์เนื่องจากทำไม่ทัน และอยากให้จัดสอบกับผู้ป่วยจริงบนหอผู้ป่วย
ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันอภิปรายเพิ่มเติมถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดสอบ OSCE แต่สรุปแล้วปัญหาหลักคือ การมีโจทย์สถานการณ์ที่ใช้สอบจำกัดเกินไป จังทำให้นักศึกษาท่องจำมาสอบและไม่เกิดการคิดวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
2. แนวทางพัฒนาในการจัดสอบ OSCE
อาจารย์ทุกท่านในที่ประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นหลากหลายเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาการจัดสอบ OSCE ในครั้งต่อไป ดังนี้
2.1 จัดกลุ่มอาจารย์เป็นทีม เช่น ทีมทารกแรกเกิด ทีม อน.4 และ 5 ทีม จฟ.6 และอน.3 ในการสร้างโจทย์ให้ซับซ้อนมากขึ้น โดยในโจทย์จะต้องมีสถานการณ์ที่มีการตัดสินใจและการทำ procedure ที่พบในหอผู้ป่วยทีมนั้นจริงๆ และเพิ่มโจทย์จำนวนมากขึ้น
2.2 สร้างโจทย์ให้มีการทำ procedure เพียง 1 อย่าง และให้มีเหตุการณ์ที่ต้องตัดสินใจและการลงมือแก้ปัญหาเพียงแค่ 1 อย่าง เพื่อให้ทันกับเวลา และเพิ่มโจทย์จำนวนมากขึ้น
2.3 การสร้างโจทย์ ไม่ควรกำหนดตายตัวว่า ต้องมี 2 procedure นี้คู่กันเท่านั้น เพราะทำให้สร้างยากและไม่ซ้บซ้อน
2.4 มีการเสนอให้มีการประเมินการสอบ procedure บนหอผู้ป่วย เพื่อให้นักศึกษาได้ตัดสินใจ และปฏิบัติกับผู้ป่วยจริงๆ แต่ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
2.5 ควรมีการนำสถานการณ์ที่แต่ละกลุ่มสร้างขึ้นเข้าพิจารณาในที่ประชุม เพื่อได้ช่วยกันวิเคราะห์ว่าเป็นโจทย์ที่เหมาะสมหรือไม่
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ทำให้อาจารย์ผู้เข่าร่วมกิจกรรมได้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคในการจัดสอบ OSCE และได้เห็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการจัดสอบ OSCE ในครั้งต่อไป ซึ่งข้อเสนอแนะที่ได้จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะนำไปเสนอในคณะกรรมการดำเนินงานหลักสูตรพยาบาบศาสตรบัณฑิตเพื่อนำไปพัฒนาแนวทางในการจัดสอบ OSCE ในปีการศึกษาต่อไป
อ.อุดมญา พันธนิตย์ ผู้ดำเนินรายการและผู้ลิขิต