ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 1/2559 เรื่อง “การป้องกัน Medication error ในการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์ เป็นผู้นำกิจกรรม

 จัดขึ้นในวันพุธที่  18 พฤษภาคม 2559 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์  เริ่มนำเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยกล่าวว่าการให้ยาผิดเป็นความผิดพลาดที่พบมากที่สุดในการปฏิบัติการพยาบาล ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยแล้ว ยังทำให้ผู้ให้ยาวิตกกังวลกับเหตุการณ์ร้ายที่อาจเกิดกับผู้ป่วย เสียใจ หรือขาดความไว้วางใจจากผู้ร่วมงาน หรือมีความผิดทางกฏหมายได้  โดยเฉพาะ เมื่อนักศึกษาพยาบาลให้ยาผิด จะทำให้นักศึกษารนู้สึกมีความผิดติดตัว ขาดความมั่นใจและอาจไม่ต้องการปฏิบัติงานในวิชาชีพพยาบาลต่อไป  อาจารย์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนหอผู้ป่วยในกรณีที่นักศึกษาให้ยาผู้ป่วยโดยพลการในขณะที่อาจารย์กำลังนิเทศนักศึกษาอีกคนหนึ่งให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำที่เตียงใกล้ๆกันทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น นักศึกษานำยาไปให้ผู้ป่วยผิดวิถีทาง กล่าวคือให้ยาชนิดรับประทานเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยการ feed ทางสาย extension tube  แต่เนื่องจากยามีปริมาณน้อย ยาจึงยังไม่เข้าสู่ร่างกาย อาจารย์ได้แก้ไขสถานการณ์โดยการดูดยาออกและถอดสาย medicut ออกทันที  ผู้ป่วยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ  หลังจากเกิดเหตุการณ์ อาจารย์ได้ให้นักศึกษาสะท้อนคิด พบว่า นักศึกษาเข้าใจว่าสาย extension tube เป็นสาย NG tube และต้องการให้ผู้ป่วยได้รับยาโดยเร็วจึงไม่รออาจารย์ นักศึกษาเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กังวลว่ามีความผิด จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ได้ข้อคิดว่าอาจารย์จะต้องเน้นย้ำนักศึกษาทุกคนว่า ไม่ให้นักศึกษาให้ยาหรือทำหัตถการใดๆโดยไม่มีอาจารย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหญิง โควศวนนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์นิเทศในหอผู้ป่วยเดียวได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นช่วงที่ขึ้นฝึกปฏิบัติเป็นสัปดาห์ที่ 2 และนักศึกษาเคยให้ยาผู้ป่วยเด็กทางสายให้อาหารมาก่อนแล้ว ดังนั้นการให้ยาผิดวิถีทางนี้จึงมิได้เกิดจากการขาดความรู้ แต่อาจเกิดจากความเผลอเรอ หรือรู้สึกสับสนในช่วงเวลาดังกล่าว  

อาจารย์กาญจนา ครองธรรมชาติซึ่งเป็นผู้สอนเรื่อง Patient safety ในช่วงปฐมนิเทศกล่าวว่าได้ยกตัวอย่างเรื่องของการป้องกันเรื่อง medication error  โดยยกเป็นสถานการณ์ และในทางปฏิบัติอาจารย์ประจำหอผู้ป่วยจะมอบหมายผู้ป่วยก่อน 1 วันเพื่อศึกษาข้อมูลและค้นคว้าเรื่องยา ในการจัดเตรียมยา อาจารย์ประจำหอผู้ป่วยจะอยู่ดูแลทุกขั้นตอน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณรัตน์  จึงขอให้ให้อาจารย์ร่วมกันเสนอแนวทางป้องกันการให้ยาผิดในขณะจัดการเรียนการสอนบนหอผู้ป่วย อาจารย์ร่วมแสดงความคิดเห็นหลากหลาย  สรุปแนวปฏิบัติในการป้องกันการเกิด medication error และแนวปฏิบิตเมื่อให้ยาผิด ดังนี้

  1. ในวันปฐมนิเทศวิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น หัวหน้าวิชาฯ แจ้งนักศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันการให้ยาผิด โดยเน้นย้ำหลัก 6 Right 
  2. วันขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยวันแรกและการ conference ทุกครั้ง ให้นักศึกษาสะท้อนคิดเกี่ยวกับการปฏิบิตกิจกรรมพยาบาลโดยเฉพาะการให้ยา และอาจารย์เน้นย้ำถึงข้อควรระวังและไม่ให้นักศึกษาให้ยาโดยไม่มีอาจารย์อยู่ด้วย
  3. มอบหมายผู้ป่วยก่อน 1 วันเพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยและค้นคว้าเรื่องยาก่อนจัดยา
  4. ทำ preconference กับนักศึกษาเป็นรายบุคคลก่อนการปฏิบัติการพยาบาล  พร้อมเน้นย้ำในกรณีที่ผู้ป่วยมีสายต่างๆ เช่น NG/OG tube  สาย Oxygen cannular เป็นต้น
  5. อาจารย์ดูแลนักศึกษาขณะจัดยาและให้ยาทุกครั้ง
  6. หากนักศึกษาให้ยาผิด อาจารย์ประจำหอผู้ป่วย จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
  • รายงานพยาบาลหัวหน้าทีม เพื่อรายงานตามขั้นตอนของโรงพยาบาล ได้แก่ แจ้งหัวหน้าหอผู้ป่วย แพทย์ประจำหอผู้ป่วย เพื่อดำเนินการแจ้งให้ผู้ปกครองทราบภายใน 24 ชั่วโมง
  • เก็บหลักฐานทางกายภาพ  เช่นในเหตุการณืที่เกิดขึ้น ต้องเก็บสาย extension และ medicut  ที่ถอดดออกไว้ หรือถ่ายภาพเป็นหลักฐาน
  • แจ้งหัวหน้าวิชาฯ  หัวหน้าภาควิชาฯ และรองคณบดีฝ่ายการศึกษาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามระเบียบของคณะฯ
  • ให้นักศึกษาเฝ้าระวังและติดตามอาการของผู้ป่วยจนกว่าจะปลอดภัย  และให้นักศึกษาสะท้อนคิดถึงเหตุการณืดังกล่าว รวมทั้งแนวทางปรับปรุงแก้ไข 
  • นัดหมายให้นักศึกษามาพบหัวหน้าวิชาฯ และหัวหน้าภาควิชาฯ