การผ่าตัดหัวใจถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม การฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัดจึงเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินความสำเร็จของการผ่าตัดและภาวะสุขภาพของผู้ป่วย การฟื้นตัวเป็นกระบวนการต่อเนื่องในการกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลเป็นปกติของร่างกายภายหลังการผ่าตัด สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ทั้งสุขภาพกายและจิตสังคม

 

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจผู้ป่วยจะได้รับการดมยาสลบแบบทั่วร่างกาย การฟื้นตัวจากการดมยาสลบอาจประเมินได้จากระดับความรู้สึกตัว สัญญาณชีพ และความตึงตัวของกล้ามเนื้อในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าการทำตามสั่ง ในระยะวิกฤติภายหลังการผ่าตัดเสร็จที่ผู้ป่วยอยู่ในหอผู้ป่วยอภิบาลเป็นระยะสำคัญที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนโลหิต การดูแลจึงต้องการการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ระยะแรกผู้ป่วยยังคงต้องให้ยาในกลุ่มกระตุ้นการทำหน้าที่ของหัวใจ (inotrope drugs) เพื่อพยุงการทำงานของหัวใจจนเมื่อหัวใจสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างปกติจึงถอนยาในกลุ่มนี้ออก ในระยะนี้การเฝ้าระวังติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมกับสัญญาณชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินการฟื้นตัว

ภายหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจเป็นการผ่าตัดเพื่อเพิ่มปริมาณเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในวันที่ 5-7 หลังการผ่าตัด ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน สามารถเดินได้ การประเมินการฟื้นตัวโดยให้ผู้ป่วยเดินทดสอบในแนวราบเป็นเวลา 6 นาที (six minute walk test; 6MWT) จึงเป็นการทดสอบที่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการประเมินการหน้าที่โดยรวมของร่างกาย สะท้อนถึงการตอบสนองของร่างกายต่อการออกกำลังกายทั้งการทำหน้าที่ของระบบหัวใจหลอดเลือด ปอด ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และสะท้อนถึงความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ในงานวิจัยต่างประเทศจึงการทดสอบการฟื้นตัว ความสามารถในการทำหน้าที่ (physical function) โดยใช้ 6MWT มากมายร่วมกับการประเมินโดยใช้แบบสอบถาม สำหรับประเทศไทยมีงานวิจัยเรื่อง "ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการฟื้นตัวในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจที่มีเบาหวานเป็นโรคร่วม" ประเมินการฟื้นตัวโดยใช้6MWT ในกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 88 คนพบว่า โรคร่วม ประสิทธิภาพการบีบตัวของหัวใจ (Ejection fraction) และภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการฟื้นตัวในระยะเวลา 7 วันหลังผ่าตัดหรือวันที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวโดยเร็วจึงควรคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวเป็นสำคัญ ร่วมกับการส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจโดยการออกกำลังกายจะทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นฟูที่ดีและสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข