ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ วิธีการสอนให้นักศึกษาเกิดการคิดอย่างมีวิจารณญาณและแนวทางการวิจัย ในวันพุธที่ 19 มีนาคม 2557 ณ ห้องประชุมเพชรรัตน์ โดยผศ.สมหญิง โควศวนนท์ และ ผศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบหรือวิธีการสอนให้นักศึกษาเกิดการคิดอย่างมีวิจารณญาณนำไปสู่แนวทางการวิจัย ซึ่งความคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking)

เป็นกระบวนการในการใช้สติปัญญา โดยอาศัย ความรู้ ทัศนคติ ทักษะ ในการคิดอย่างมีเหตุผล ไตร่ตรอง ทบทวนข้อเท็จจริง ประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปสู่สมมติฐาน ข้อสรุปที่เหมาะสมต่อการตัดสินใจ (อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย, 2543) 

ขั้นตอนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน (อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย, 2543) 

  1. การระบุประเด็นปัญหา 
  2. การรวบรวมข้อมูล 
  3. การพิจารณาความน่าเชื่อถือ
  4. การระบุลักษณะข้อมูล
  5. การกำหนดสมมติฐาน
  6. การลงข้อสรุป
  7. การประเมินผล 

หลักการสอนให้ผู้เรียนเกิดความคิดวิจารณญาณ (รัชนีวรรณ รอส, 2544)

  1. ผู้สอนหรือครูต้องรู้จักตนเอง ประเมินตนเอง ครูสามารถพัฒนาตนเองไปพร้อมกับการสอน
  2. ครูต้องหารูปแบบการสอนที่ช่วยให้เกิดความคิดวิจารณญาณ
    • การสอนในชั้นเรียน : กรณีศึกษา ใช้หลัก adult learning , student center, role play, movie
    • การสอนบนคลินิค : กรณีศึกษา ยกตัวอย่างเช่น การ conference case ของนักศึกษาพยาบาล ไม่จำเป็นต้องให้นักศึกษาในกลุ่มทำทุกคน แต่เน้นการแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการ conference เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การบูรณาการความรู้เพื่อการนำไปใช้อย่างเหมาะสมต่อไป

การกำหนดคุณลักษณะของความคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้ที่จบปริญญาตรี  (ดร.รัชนีวรรณ รอส, 2544)

  • การตีความ (Interpretation)
  • การวิเคราะห์ (Analysis)
  • การประเมิน (Evaluation)
  • การสรุปความ (Inference)
  • การอธิบาย (Explanation)
  • การควบคุมตนเอง (Self regulation)

แบบทดสอบความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษา ประกอบด้วย 5 ชุด  (ดร.รัชนีวรรณ รอส, 2544)

ชุดที่ 1  การอนุมาน
ชุดที่ 2  การยอมรับข้อตกลงเบื้องต้น
ชุดที่ 3  การนิรมัย
ชุดที่ 4  การตีความ
ชุดที่ 5  การประเมินข้อโต้แย้ง

นอกจากนี้ ผศ. สมหญิง ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยเรื่อง ผลการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานต่อความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาพยาบาลในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น  โดย ผศ. ดร. เกียรติกำจร กุศล และคณะฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะและทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาพยาบาล เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณลักษณะและทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนและหลังการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่เรียนวิชาปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น ในภาคการศึกษาที่ 1/2549 จำนวน 35 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามคุณลักษณะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและแบบวัดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กรอบแนวคิดในการวิจัย คือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน ดังนี้

  1. คุณลักษณะของบุคคลที่มีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 7 ด้าน
    • การเปิดใจกว้าง
    • ความอยากรู้อยากเห็น
    • ความเป็นระบบระเบียบ
    • ความเป็นนักวิเคราะห์
    • การชอบค้นคว้าความจริงให้ปรากฎ
    • ความมั่นใจของตนเองในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
    • ความมีวุฒิภาวะ
  2. ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
    • การวิเคราะห์
    • การแปลความ
    • การประเมิน
    • การอนุมาน

ผลการวิจัยพบว่า

  1. นักศึกษาส่วนใหญ่มีคุณลักษณะและทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในด้านการอนุมานสูงสุด รองลงมา คือ มีคุณลักษณะด้านความอยากรู้อยากเห็น และการเปิดใจกว้าง
  2. ค่าคะแนนเฉลี่ยของคุณลักษณะและทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาโดยภาพรวมภายหลังการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักสูงกว่าก่อนการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับน้อยกว่า .05
  3. จากการพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยคุณลักษณะด้านความมั่นใจในตนเอง การคิดอย่างเป็นระบบ และทักษะด้านการประเมิน ภายหลังการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก สูงกว่าก่อนการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับน้อยกว่า .05

จากผลงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า รูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักสามารถช่วยพัฒนาคุณลักษณะและทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาพยาบาลได้ 

ผศ.ดร.สมสิริ ได้กล่าวถึง การพัฒนางานวิจัยทางการศึกษาที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนให้นักศึกษาเกิดความคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) ในรายวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีภาวะสุขภาพเบี่ยงเบน 1 โดยได้เสนอให้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างการบรรยายและกรณีศึกษา ซึ่งในส่วนของกรณีศึกษา จะส่งเสริมให้นักศึกษาฝึกคิดตามขั้นตอนการคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน และเปรียบเทียบผลลัพธ์ก่อนและหลังการใช้รูปแบบวิธีการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดความคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) ในการนี้ มีอาจารย์แสดงความคิดเห็นหลากหลาย สรุปประเด็นดังนี้

การเรียนการสอนโดยใช้วิธีผสมผสานระหว่างการบรรยายกับกรณีศึกษาในการส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดความคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) อาจใช้รูปแบบการตั้งคำถามเพื่อให้นักศึกษาเกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ จากสถานการณ์ต่างๆ ตามขั้นตอนการคิดอย่างมีวิจารณญาณที่เหมาะสม โดยใช้เวลาการบรรยายให้น้อยลง ส่งเสริมกระบวนการคิดของนักศึกษาจากสถานการณ์ต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น การจัด Group Discussion  และการวิจัยทางการศึกษาที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาเกิดความคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) อาจวัดผลในรูปแบบการตั้งประเด็นคำถามโดยการสนทนากลุ่ม (Focus Group) แทนการวัดผลด้วยแบบสอบถามที่มีจำนวนรายข้อมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงจากความคิดเห็นที่สะท้อนคิดจากนักศึกษา และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

PDF Download


วิทยากร: ผศ.ดร. สมหญิง โควศวนนท์ และ ผศ. ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์

ผู้ลิขิต: อาจารย์ชญาภา ชัยสุวรรณ และอาจารย์ ดร.อรุณรัตน์ ศรีจันทรนิตย์