ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัน สุวรรณรูป ได้ดำเนินการให้มีการเสวนาในประเด็นนี้ตามที่อาจารย์ในภาควิชาฯ ได้เสนอในการประชุมภาควิชาฯ และได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการความรู้ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนว่าเป็นเรื่องที่ได้กำหนดไว้ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ต้องการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามนโยบายของคณะฯ โดยใช้การจัดการความรู้ (KM) เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ จึงอยากให้อาจารย์ทุกคนเข้าใจและมีส่วนร่วม หลังจากนั้นได้เชิญให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุพา จิ๋วพัฒนกุล นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการเขียนวัตถุประสงค์สำหรับโครงการการศึกษาชุมชน จากรายงานของนักศึกษาในวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลในครอบครัวและชุมชน
และให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้เสนอข้อคิดเห็นใน ๓ ประเด็น
๑. การเขียนข้อวินิจฉัยชุมชนควรเป็นแบบใด
๒. การเขียนวัตถุประสงค์โครงการการศึกษาชุมชนควรเป็นอย่างไร
๓. ควรใช้คำใดในการระบุประธานของประโยคในการเขียนข้อวินิจฉัยชุมชน
ผู้เข้าร่วมเรียนรู้เสนอข้อคิดเห็น และมีข้อสรุป ดังนี้
๑. การเขียนข้อวินิจฉัยชุมชน
๑.๑ ข้อวินิจฉัย
๑.๑.๑ การเขียนข้อวินิจฉัยชุมชนให้ระบุปัญหาและตามด้วยสาเหตุ ในส่วนสาเหตุของข้อวินิจฉัยจะมี หรือไม่มีสาเหตุก็ได้
๑.๑.๒ การเขียนข้อวินิจฉัยชุมชนไม่ต้องระบุขนาด (ร้อยละของปัญหา) เช่น
- ประชาชนที่สำรวจมีพฤติกรรมการออกกำลังกายไม่เหมาะสม เนื่องจากขาดความรู้
- กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชนมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม
- ประชาชนในชุมชนเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก เนื่องจากชุมชนมีสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม
- ชุมชนมีสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม
๑.๒ ข้อมูลสนับสนุน
๑.๒.๑ ข้อมูลสนับสนุนมีทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพ และข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งข้อมูลเชิงปริมาณต้องมีการระบุปริมาณเป็นร้อยละ เช่น
- ประชาชนที่สำรวจไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ ๔๒.๘๘ (๕๘ คน)
- กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานรับประทานอาหารรสหวาน ร้อยละ ๗๒.๘๘ (๖๘ คน)
- ภายในชุมชนมีแหล่งน้ำขังหลายพื้นที่
ตัวอย่างการเขียนข้อวินิจฉัยชุมชนและข้อมูลสนับสนุน
ข้อวินิจฉัยชุมชน
กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชนมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม
ข้อมูลสนับสนุน
๑. ไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ ๖๘.oo (๖๘ คน)
๒. รับประทานอาหารรสหวานมากกว่า ๓ ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ ๔๔.oo (๔๔ คน)
๓. รับประทานอาหารรสเค็มมากกว่า ๓ ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ ๔๒.oo (๔๒ คน)
๔. ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า ๓ ขวด/สัปดาห์ ร้อยละ ๔o.oo (๔o คน)
๕. รับประทานอาหารทอดมากกว่า ๓ ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ ๓๒.oo (๓๒ คน)
๒. การเขียนวัตถุประสงค์โครงการการศึกษาชุมชน มี ๒ รูปแบบ คือ Goal and Objective และ วัตถุประสงค์หลัก และวัตถุประสงค์เฉพาะ ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ขอให้ใช้วัตถุประสงค์หลัก และวัตถุประสงค์เฉพาะ เนื่องจากตรงกับการสอนตามทฤษฎีที่นักศึกษาได้เรียนมา มีรายละเอียด ดังนี้
๒.๑ วัตถุประสงค์หลัก
๒.๑.๑ การเขียนวัตถุประสงค์หลักเขียนเป็นภาพรวม ภาพกว้าง ไม่ต้องระบุขนาด (ร้อยละของปัญหา)
๒.๑.๒ การเขียนวัตถุประสงค์หลักเขียนต้องมีประธาน ซึ่งสามารถใช้คำต่อไปนี้ได้ เช่น ผู้เข้าร่วมโครงการ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ฯลฯ เช่น
- ครัวเรือนมีการควบคุม/ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างเหมาะสม
- ผู้สูงอายุ และผู้ดูแลมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อเพื่อป้องกันอุบัติเหตุการพลัดตกหกล้ม
๒.๒ วัตถุประสงค์เฉพาะ
๒.๒.๑ การเขียนวัตถุประสงค์เฉพาะต้องเขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม สอดคล้องกับข้อมูลสนับสนุนที่เป็นสาเหตุของปัญหา สามารถวัดและประเมินผลได้ มีระยะเวลากำกับ เช่น
- ทุกครัวเรือนมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน (House Index) น้อยกว่าหรือเท่ากับ ๑o
- ทุกครัวเรือนใส่ทรายอะเบตลงในแหล่งน้ำขังบริเวณบ้านและรอบๆบริเวณบ้านทุกเดือน
- ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ หรือที่ได้รับการเยี่ยมบ้านร้อยละ ๖o.oo สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากการเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มได้อย่างน้อย ๖ ข้อ จาก ๑o ข้อ
- ผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่เข้าร่วมโครงการ หรือที่ได้รับการเยี่ยมบ้านร้อยละ ๖o.oo สามารถเลือกภาพอาหารเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและข้อได้อย่างน้อย ๘ ภาพจาก ๑o ภาพ
- ผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่เข้าร่วมโครงการ หรือได้รับการเยี่ยมบ้านร้อยละ ๖o.oo สามารถสาธิตกลับการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อได้อย่างน้อย ๖ ท่าจาก ๙ ท่า
หมายเหตุ สามารถละคำว่า “หลังการดำเนินโครงการ หรือหลังจบโครงการ” ซึ่งเป็นระยะเวลากำกับการเสร็จสิ้นโครงการในฐานที่เข้าใจ
ตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์หลักและวัตถุประสงค์เฉพาะ
วัตถุประสงค์หลัก
ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมีความรู้ในการปฏิบัติตนที่เหมาะสมกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
วัตถุประสงค์เฉพาะ
๑. ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร้อยละ ๘o.oo มีความรู้เรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโดยตอบคำถามได้ถูกต้อง ๘ ข้อ จาก ๑o ข้อ
๒. ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร้อยละ ๘o.oo สามารถเลือกอาหารที่เหมาะสมกับโรคได้ถูกต้องอย่างน้อย ๓ ชุด จาก ๕ ชุด
๓. ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร้อยละ ๘o.oo สามารถเรียงปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มได้ถูกต้องอย่างน้อย ๓ ชนิด จาก ๕ ชนิด
๔. ผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร้อยละ ๘o.oo สามารถสาธิตย้อนกลับท่าการออกกำลังกายได้ถูกต้องอย่างน้อย ๘ ท่า จาก ๑o ท่า
ก่อนจบการเรียนรู้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัน สุวรรณรูป ได้สอบถามผู้เข้าร่วมการเรียนรู้ถึงหัวข้อต่อไป และวันที่จะจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ ผู้เข้าร่วมการเรียนรู้เสนอ ควรจัดวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา o๙.oo-๑๒.oo น.ที่คณะพยาบาลศาสตร์ ศิริราช เรื่อง Team- based learning มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะธิดา นาคะเกษียณ เป็นผู้นำเสนอ และให้เพิ่มหัวข้อ Project- based learning โดยมอบหมายให้ อาจารย์ ดร.สุพินดา เรืองจิรัษเฐียร เป็นผู้นำเสนอ และมีผู้เสนอให้เชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ช่อทิพย์ สันธนะวนิช มาร่วมแลกเปลี่ยนรู้เรียนรู้ในหัวข้อ Team- based learning
ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
๑. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงใจ รัตนธัญญา
๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัน สุวรรณรูป
๓. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กีรดา ไกรนุวัตร
๔. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา วัฒายุ
๕. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุพา จิ๋วพัฒนกุล
๖. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นงนุช เพ็ชรร่วง
๗. อาจารย์ ดร.สุพินดา เรืองจิรัษเฐียร
๘. อาจารย์ เพ็ญจันทร์ สิทธิปรีชาชาญ
๙. อาจารย์เวหา เกษมสุข
๑๐. อาจารย์ดาริน ขันธ์วรวงศ์
๑๑. ผู้ช่วยอาจารย์วรรณภา ปาณาราช
๑๒. ผู้ช่วยอาจารย์สุรัสวดี ไวว่อง