การที่คนเรา มองเห็นได้นั้น เนื่องจากการทำงานร่วมกันของโครงสองชนิดในการรวมแสงให้ไปตกบนจอประสาทตา โครงสร้างแรกอยู่หน้าสุดของลูกตาคือ "กระจกตา" จะทำหน้าที่หักเหแสงเข้าลูกตา โครงสร้างที่สองอยู่ส่วนในของลูกตาเรียกว่า "เลนส์แก้วตา"กระจกตาและเลนส์แก้วตาจะรวมแสงเข้าสู่ตาเพื่อให้ไปตกบนจอประสาทตาเป็นจุดเดียว จากนั้นแสงจะถูกเปลี่ยนกลายเป็นสัญณาณไฟฟ้าส่งไปที่สมองเพื่อตีความหมายเป็นภาพที่เห็นตรงหน้า

 

ต้อกระจก คือ อะไร

ต้อกระจกหรือที่เรียกว่า Cataract คือ ภาวะที่เลนส์แก้วตา (Lens) ซึ่งอยู่ในตาของคนเรา (ปกติจะมีลักษณะใสเหมือนกระจก) เริ่มขุ่นมัวขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อย เป็นสาเหตุทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง ผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าวจึงมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนหรือเกิดอาการที่เรียกว่า "ตามัว"

ซึ่งสาเหตุของการเกิดต้อกระจกส่วนใหญ่ เกิดจากการเสื่อมตามวัย คือ เมื่อคนมีอายุมากขึ้นเลนส์แก้วตาในตาก็จะเริ่มหนาและแข็งขึ้นที่จุดกึ่งกลาง ซึ่งตำแหน่งที่เกิดการขุ่นมัวของเลนส์แก้วตาที่พบบ่อยที่สุด คือ บริเวณตรงกลาง (Nuclear) อย่างไรก็ตามการเกิดต้อกระจกนั้นสามารถเกิดได้ในประชากรทุกอายุ แต่จะพบมากในผู้ที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 55 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสเป็นต้อกระจกได้ถึง 50 % และเมื่ออายุ 75 ปีขึ้นไปผู้สูงอายุเกือบทุกคนจะเป็นต้อกระจก

อาการและอาการแสดง มีดังนี้

  • สายตาพร่ามัว เห็นภาพเป็นเงาซ้อนซึ่งมองเห็นไม่ชัดเจน เหมือนมีอะไรมาบังภาพบางส่วนไว้ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นช้า ๆ โดยไม่มีอาการปวดตาร่วมด้วย
  • ตาไม่สู้แสง
  • เห็นแสงไฟแตกกระจายเป็นแฉก เป็นรัศมี หรือเป็นวง ๆ ทำให้มีปัญหาเวลาขับรถกลางคืน หรือ ทำให้การอ่านหนังสือยากขึ้น เป็นต้น
  • เห็นสีผิดปกติไปจากเดิม สีไม่สดใสเหมือนเดิม
  • เปลี่ยนแว่นบ่อย ใส่แว่นแล้วยังเห็นไม่ดีขึ้น

บางคนมีอาการตามัวเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนเห็นได้ดีกว่า พบในคนที่เป็นต้อกระจกระยะแรก เกิดเป็นฝ้าเฉพาะบริเวณส่วนกลางของเลนส์แก้วตา เมื่ออยู่กลางแจ้งรูม่านตาหดเล็กลงตามปกติ จึงบังส่วนใสซึ่งอยู่รอบนอกของเลนส์แก้วตา ตาจึงต้องมองผ่านเฉพาะส่วนกลางเลนส์แก้วตาซึ่งขุ่น ทำให้มีอาการตามัวเวลาได้รับแสงสว่าง แต่ถ้าอยู่ในที่มืดม่านตาขยาย ตาจะเห็นดีขึ้น เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น เกิดฝ้าทั่ว ๆ ไปทั้งเลนส์แก้วตา จะทำให้เกิดตามัวตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวทิ้งไว้นานโดยไม่รักษาอาจเกิดโรคต้อหินเฉียบพลันแทรกซ้อนทำให้ตาบอดในที่สุด

การรักษา ปัจจุบันการผ่าตัดแบ่งเป็น 2 วิธี คือ

  1. การผ่าตัดเพื่อนำเลนส์แก้วตาออกมา (Extracapsular cataract extraction: ECCE) โดยเปิดแผลยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แล้วเย็บปิดแผล
  2. การผ่าตัดโดยวิธีการสลายต้อกระจกโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) สลายต้อกระจกและดูดออกมา ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2.2–3.0มิลลิเมตร และใช้เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ ทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดได้เร็ว ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยกว่า จึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล จักษุแพทย์ที่ชำนาญสามารถทำผ่าตัดได้ โดยใช้ยาชาหยอดเฉพาะที่เท่านั้น ไม่ต้องฉีดยาหรือดมยาสลบการผ่าตัดจึงมีความปลอดภัยขึ้น

ดังนั้น ปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้อกระจก จึงเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านการผ่าตัดเป็นสำคัญ เช่น ขนาดของแผลผ่าตัด ตำแหน่งของแผลผ่าตัด ตำแหน่งของการใส่เลนส์เทียม เป็นต้น ซึ่งการฟื้นตัวของผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดต้อกระจก สามารถประเมินได้จากการมองเห็นของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวที่สำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้กลไกการหายของแผลไม่ดี นั่นคือภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ซึ่ง ประกอบด้วย

  1. การติดเชื้อ (Infection) เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดมากที่สุด
  2. การมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา (Hyphema)
  3. การบวมของกระจกตา (Cornea edema)
  4. การบวมของเยื่อบุตา (conjunctival chemosis)
  5. Vitreous loss

PDF Download


แบบประเมิน การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Login Form

Contact Us

งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4
แขวงศาลายา เขตพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม 73170
จันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 08.30-16.30 น.

Statistics

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1468975